เมื่อวันที่ 18 ก.ค.62 ที่ศาลแพ่งถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านพิพากษาอุทธรณ์คดี พ.250/2559 ที่นายสาธร พุทธชัยยงค์ อายุ 57 ปี บิดาของ นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือโยโย่อายุ 19 ปี ที่ฝึกกระโดดร่มเเล้วไม่กาง เสียชีวิตที่ จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2557 เป็นโจทก์ที่ 1 และบิดา-มารดาของ นรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข หรือฟิวส์ อายุ 21 ปีที่เสียชีวิตอีกคน เป็นโจทย์ที่ 2-3 รวมการยื่นฟ้องบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท อุตสาหกรรมการบินจำกัด พล.อ.อ.วีรนันท์ หาญสวธา กก.ผจก.บจก.อุตสาหกรรมการบิน ร.ต.กณพ อยู่สุข ผู้จัดการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ลพบุรี พ.อ.อ.สมชาย อำภา ช่างซ่อมอากาศยานผู้ทำการติดตั้งสายสลิง จ.อ.กีรติ สุริโย ช่างซ่อมอากาศยานผู้ทำการติดตั้งสายสลิง จ.อ.รัชเดช เถาว์เพ็ง ช่างเทคนิคผู้ทำการติดตั้งสายสลิง ร.ท.สมเจต สวัสดิรักษา ผู้จัดการแผนกตรวจรอยร้าวโดยไม่ทำลาย ผู้จัดหาและประสานงานจัดหาสายสลิงดัดแปลง นายวัชรพงศ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม ผู้ประสานงานและสั่งให้มีการจัดหาสายสลิงนำมาดัดแปลง นายสุพร ธนบดีผู้จัดการกองซ่อมบำรุงอากาศยานตำรวจ บมจ.การบินไทยและพนักงาน บมจ.การบินไทย เป็นจำเลยที่ 1-11 เรื่องละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเนื่องจากสายสลิงที่ใช้ในการกระตุกร่มหลักขาดหลุดจากปลอกรัด ทำให้สายสลิงกระตุกร่มไม่กาง เป็นเหตุให้ นรต.ชยากร และ นรต.ณัฐวุฒิ ที่ฝึกกระโดดร่มถึงแก่ความตายจึงขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหาย 49,550,400 บาท เป็นค่าจัดการศพและค่าขาดไร้อุปการะ ในส่วนของ นรต.ชยากร และในส่วนของ นรต.ณัฐวุฒิ เรียกค่าเสียหาย รวม 10 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยคดียื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 59 โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 60 เห็นว่า บจก.อุตสาหกรรมการบินจำเลยที่ 2 และนายวัชรพงศ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ตามสัญญาในการซ่อมบำรุงจะต้องทำหน้าที่ประสานหาแหล่งที่ซื้อสายสลิงด้วย โดยนายวัชรพงษ์ได้ซื้อสายสลิงของสไปก้าภายหลังพบว่าไม่ได้มาตรฐานและไม่มีคุณภาพโดยจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการที่ทำให้เกิดการละเมิดแล้ว ดังนั้นจำเลยที่ 2,9 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายสาทรโจทก์ที่ 1 โสดฟ้องโจทก์ที่ 2-3 และจำเลยอื่นยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าเมื่อพบความบกพร่องได้มีการแจ้งจำเลยเป็นแบบชั้นเเล้ว ต่อมามีการจัดหาสายสลิงใหม่มาติดตั้ง ซึ่งการติดตั้งจำเลยที่ 1, 5-7, 10 ได้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องรับผิด ต่อมาโจทก์ที่ 1-3 และจำเลยที่ 2,9 ได้ยื่นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่าค่าปลงศพที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ 270,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 320,000 บาท และยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจำเลยที่ 2,9 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมเต็มจำนวนส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ต้องชดใช้ให้โจทก์ที่ 1 เห็นว่าที่กำหนดไว้ 2.5 ล้านบาท อย่างน้อยเกินไปเห็นสมควรเพิ่มเป็นเดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 15 ปีรวมเป็นเงิน 4.5 ล้านบาท ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 และที่ 9 ร่วมกันชดใช้ค่าต่างๆให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 4.82 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง 21 ม.ค. 59 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งชำระค่าทนายความแทนโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 2-3 ในส่วน บมจ.การบินไทย และพนักงานการบินไทยนั้น พิพากษายืนให้ยกฟ้องเช่นเดียวกับยกฟ้องจำเลยที่ 1, 3-8, 10-11 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ค.62) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังโรงเรียนวัดคงคาราม(อินทราชผดุงศิลป) หมู่ที่ 3 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ม เพื่อพบกับนายสาธร พุทธชัยยงค์ ผอ.โรงเรียนวัดคงคาราม บิดาของ นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือโยโย่อายุ 19 ปี ที่ฝึกกระโดดร่มเเล้วไม่กาง เสียชีวิตที่ จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2557 และได้เปิดเผยความรู้สึกว่า ในคดีที่ลูกชายกระโดดร่มแล้วเสียชีวิต แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คดีแพ่ง และคดีอาญา ในส่วนของคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นตัดสินให้ผู้ถูกกล่าวหาชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้บิดาเป็นจำนวน 2,500,000 บาท เเละค่าปลงศพอีก 250,000 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 2,750,000 บาท แต่ทางตนที่มีความจำเป็นที่ต้องอุทธรณ์ เพราะศาลได้พิพากษาว่าบุตรชายมีส่วนร่วมในการให้เกิดเหตุร้ายด้วย ซึ่งตรงนี้เห็นว่าไม่เป็นความจริง เพราะว่าวันที่ลูกชายกระโดดลงมาแล้วเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ตนก็อยู่ด้วยในวันนั้น และได้วิ่งเข้าไปดูร่มสำรองถูกกางออกแล้ว รวมทั้งเพื่อนในกองร้อยที่รออยู่ข้างล่าง ให้การยืนยันว่าเห็นร่มสำรองถูกกางออกแล้ว ดังนั้นจึงอุทธรณ์ ตอนอุทธรณ์ไม่ได้สนใจสาระสำคัญของยอดเงินที่จะได้รับการชดใช้ แต่สนใจว่าลูกชายที่เสียชีวิตไปแล้วมีความผิดติดตัวไปอีก ในฐานะพ่อยอมรับไม่ได้ เมื่อวานนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาใหม่แล้ว โดยในส่วนของค่าชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ ศาลได้เมตตาเพิ่มจาก 2,500,000 บาท เป็น 4,500,000 บาท รวมทั้งค่าปลงศพจากเดิม 250,000 บาท เพิ่มเป็น 320,000 บาท ฉะนั้นในส่วนของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อวาน ยอดเงินทั้งสิ้น 4,820,000 บาท แต่ตรงนี้ไม่ได้ถือว่าตนเป็นฝ่ายมีชัยชนะ แต่ในความรู้สึกที่ได้รับชัยชนะ คือเมื่อวานศาลอุทธรณ์ได้กับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ในประเด็นที่ลูกชายมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดเหตุร้ายในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากับว่า จากพยานและหลักฐานที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไป ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่าลูกชายไม่มีส่วนร่วมในการให้ก่อให้เกิดเหตุร้าย ในฐานะพ่อได้สู้เต็มที่และได้ล้างมลทินให้กับลูกชายที่จากไปแล้วไม่ให้มีความผิดติดตัว ในส่วนนี้พึงพอใจที่สุด แล้วก็ในส่วนของคดีอาญา ทางกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้ส่งสำนวนทั้งหมดให้กับอัยการสูงสุดไป เมื่อ มกราคม 2561 วันนี้กรกฎาคม 2562 เป็นเวลาปีครึ่ง สำนวนอยู่ที่อัยการสูงสุด แต่ก็ยังไม่ได้นำส่งฟ้องสู่ศาล ฉะนั้นในคดีแพ่งไม่ติดใจอะไร แต่ทางคดีอาญา อยากให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้เร่งรัดนำสำนวนขึ้นสู่ศาล เพื่อจะได้ดำเนินการทางยุติธรรมให้กับลูกชายต่อไป