“จุรินทร์”สั่งเร่งตั้ง กรอ.พาณิชย์ เป็นเวทีภาครัฐ-เอกชนระดมสมองแก้ปัญหา-ผลักดันการส่งออก มั่นใจประกันรายได้ช่วยเกษตรกรได้จริง การันตีไม่มีทุจริต นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เร่งรัดจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและเอกชน สามารถเสนอแนะปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ส่งออกของไทยน่าเป็นห่วงมาก มูลค่าติดลบต่อเนื่องหลายเดือน โดยเบื้องต้นคณะกรรมการประกอบด้วย สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกเช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เป็นต้น และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีตนเป็นประธาน ทั้งนี้คาดจะประชุมนัดแรกได้ในสัปดาห์หน้า โดยตั้งใจจะมีประชุม กรอ.พาณิชย์ทุกเดือน เพื่อให้ภาคเอกชนมาเล่าปัญหาด้านการส่งออก และต้องการให้กระทรวงช่วยเหลืออะไรบ้าง หากกระทรวงแก้ไขได้เองจะดำเนินการให้ทันที แต่ถ้าเป็นเรื่องของกระทรวงอื่นจะประสานงานให้ รวมถึงถ้าจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบก็จะดำเนินการให้ เพื่อให้การส่งออกขยายตัวให้ได้ เพราะภาคเอกชนเป็นผู้ทำตลาด ภาครัฐมีหน้าที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับการประกันรายได้เกษตรกรเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งจะประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว,ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์,มันสำปะหลังเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเพิ่มเติมอีก 2 รายการคือ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ส่วนจะประกันรายได้ให้กับเกษตรกรเท่ากับที่พรรคประชาธิปัตย์ได้หาเสียงไว้หรือไม่คงต้องพิจารณาสถานการณ์ต่างๆก่อน และต้องรอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาสุดท้าย ขณะที่การประกันรายได้จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เพราะเมื่อรายได้ของเกษตรกรต่ำกว่าที่รัฐประกันเอาไว้ รัฐจะจ่ายเงินชดเชยให้เช่น ยางพารา ถ้ารัฐประกันไว้ว่าเกษตรกรจะขายได้ที่ กก.ละ 60 บาท แต่ถ้าขายได้จริง 50 บาท รัฐจะจ่ายส่วนต่างชดเชยให้ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีกวิธีหนึ่ง และไม่ต้องกลัวจะเกิดการรั่วไหลหรือทุจริต เพราะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดทุจริตได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ส่วนมาตรการกำกับดูแลราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นมาตรการที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว