ถือเป็นความทรมานอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคไต จากพฤติกรรมการกินสู่ผลกระทบคุณภาพชีวิตและเสียค่ารักษามากมาย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พฤติกรรมการกินอาหารที่มีปริมาณของโซเดียมสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ใช้ชีวิตและมักซื้ออาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารกล่องสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อซึ่งมีโซเดียมสูง หรือนิยมเติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหาร โดยผู้ที่ป่วยโรคไตในระยะแรกจะไม่พบอาการผิดปกติ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าป่วย แต่จะตรวจพบ เมื่อโรคดำเนินไปมากแล้วหรือเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตและการปลูกถ่ายไต ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงควรระมัดระวังการบริโภคอาหารด้วย โดยบริโภคกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ไม่เกิน 6 ทัพพีต่อวัน ได้แก่ ข้าวขาว วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ สาคู เป็นต้น หลีกเลี่ยงข้าวกล้องและขนมปัง สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 1-3 บริโภคอาหารกลุ่มโปรตีนไม่เกิน 7 ช้อนโต๊ะต่อวัน และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 4-5 ไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน ได้แก่ ไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น อีกทั้งควบคุมการบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม และดื่มน้ำ 1.5 ลิตรต่อวัน ซึ่งในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 ที่ปัสสาวะน้อยลง แนะนำปริมาณน้ำดื่มเท่ากับปริมาณปัสสาวะทั้งวันบวกเพิ่ม 500 มิลลิลิตร หลีกเลี่ยงผักและผลไม้ที่มีโพแตสเซียมและฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ แครอท บล็อกโคลี ถั่วฝักยาว ฟักทอง มะเขือเทศ แก้วมังกร มะละกอ น้ำส้มคั้น ผลไม้รวม เป็นต้น และอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ใจผัก หน่อไม้หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น อีกทั้งควรควบคุมโซเดียมและหลีกเลี่ยงใช้ผงชูรสปรุงประกอบอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดด้วย นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปก็ควรป้องกันภาวะไตเสื่อมที่จะนำไปสู่โรคไตเรื้อรังด้วยการบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ลดหวาน มัน เค็ม บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หากมีการจัดการดูแลอาหารด้วยตนเอง หรือมีผู้ดูแลผู้ป่วยช่วยสนับสนุนจะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ ซึ่งจากการวิจัยโดยพัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารของผู้ป่วย ด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปรุงอาหารด้วยผงชูรส จะเป็นทางเลือกที่ช่วยชะลอความเสื่อมของไตและช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น ซึ่งผลวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามหลักโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 92 คน ประกอบด้วย กลุ่มทดลอง 44 คน กลุ่มควบคุม 48 คน ภายหลังศึกษา 4 สัปดาห์ พบอัตราการทำงานของไตทั้งผู้ป่วยในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมดีขึ้น และกลุ่มทดลอง มีความตระหนักรู้ที่จะลดและเลี่ยงผงชูรสให้น้อยลงด้วย