คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น “พระอาจารย์สมภพ” ที่ว่านี้ คือ “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ” (นามสกุล “ยอดหอ”) ซึ่งผมได้เขียนถึง 2-3 ครั้งแล้ว กำลัง ติดตามฟังและดูอยู่ทางมือถือ (youtube) เพราะติดใจในคำเทศน์ของท่านที่เล่าประสบการณ์ต่าง โดยเฉพาะประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม (สมาธิภาวนา) พระอาจารย์สมภพ ปัจจุบันป่วยเป็นอัมพาต (ซีกด้านซ้าย) ดูเหมือนเป็นอัมพาตตั้งแต่ราว พ.ศ. 2551-52-53-54 โน่นแหละอาการอัมพาตปรากฏหลังจากเส้นโลหิตในสมอง (ด้านขวา) แตกระหว่างเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ ประวัติของท่านยังหาที่ครบสมบูรณ์ไม่ได้ในการบอกเล่าครั้งเดียว ต้องปะติดปะต่อจากคำบอกเล่าของท่านเองได้ทราบว่า ท่านมีเชื้อสายเป็นลาว (สปป.ลาว) และมียายทวด (แม่ของโยมพ่อโยมแม่) เป็นเวียดนาม ภูมิลำเนาเดิมของพระอาจารย์สมภพอยู่ที่ อ. ตระการพืชผล อุบลราชธานี ต่อมา ครอบครัวย้ายครัวไปอยู่ที่ ต.แพด อ.คำตากล้า สกลนคร ท่านสร้างวัด 2 วัดคือ วัดนิพเพธพลาราม และวัดไตรสิขาทลามลตาราม (ห่างกันประมาณ 10 กม.) ทั้งสองวัดมีสภาพเป็นวัดป่า ซึ่งแต่เดิมอยู่บนพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ ไม่มีน้ำ วัดนิพเพธพลาราม มีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ วัดไตรสิกขาฯ มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ พระอาจารย์สมภพเรียนจบแค่ ป.4 (หลักสูตรปีสุดท้ายของคนที่เกิดในพ.ศ. 2492) แต่ไปทำงานก่อสร้างสนามบินในประเทศทางตะวันออกกลาง เป็นซูเปอร์ไวเซอร์คุมคนงานหลายพันคน เงินเดือน 3,000-4,000 บาท (ก่อน พ.ศ.2506) ไม่เคยบวชเรียนเป็นมหาเปรียญ แต่อ่านพระไตรปิฎกตั้งแต่ยังไม่บวช หลังจากศึกษาศาสนาอีกศาสนาหนึ่งทางพระคัมภีร์จนเชี่ยวชาญเกือบจะได้เป็นนักบวชของศาสนานั้นและเกือบจะได้ไปเรียนต่อด้วยทุนขององค์กรของศาสนานั้น พระอาจารย์สมภพเป็นอีกคนหนึ่ง (ในคนไทยไม่กี่คน) ที่มีลักษณะความจำเป็นเลิศชนิด photographic mind คือมีความจำในทันทีที่ได้อ่านหรือฟังเหมือนใช้กล้องถ่ายรูป สามารถถ่ายทอดได้ด้วยความจำแม่นยำและคล่องแคล่ว พระอาจารย์สมภพสามารถอ้างบาลีในพระไตรปิฎกได้อย่างถูกต้องแม่นยำระหว่างเทศน์หรือบรรยายธรรมะโดยไม่มีการโน้ตขึ้นไปอ่านแต่อย่างใด มีความคล่องแคล่วแม่นยำพอๆ กับการใช้ภาษาไทยภาคกลาง ภาษาไทยอีสาน และภาษาอังกฤษ แต่ดวยอาการอัมพาต ท่านบอกว่า ใช้ภาษาลาวหรือภาษาอีสานได้ดีกว่าภาษาไทย (ภาคกลาง) และภาษาอังกฤษ ท่านบอกว่าภาษาอีสานออกเสียงได้ถนัดกว่าภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผมเคยเขียนว่า แปลกใจที่พระอาจารย์สมภพจำกาพย์กลอนอีสาน และคำ “พญา” (คำพูดคล้องจอง) ของอีสาน หรือแม้แต่เพลงกล่อมลูกของอีสานได้ติดปาก ที่วัดของท่านมีการสอนบาลี (โดยพระมหานิติ) ด้วยเพื่อประโยชน์ทางพระปริยัติธรรม แต่ท่านก็ไม่ส่งเสริมการเรียนสายพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ หรือโรงเรียนสายสามัญศึกษาของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ถึงกับบอกว่า ถ้าตั้งโรเงรียนอย่างนั้นขึ้นในวัดของท่านท่านจะหนีไปอยู่ต่างประเทศ พระอาจารย์สมภพแสดงความห่วงใยต่อพุทธศาสนาอย่างพระเณรทั่วไป อยากให้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ยังเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะสามารถดำรงพุทธศาสนาไว้ได้ ส่วนผม มีความเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตย (มีการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญ เพื่อการบริหารบ้านเมืองด้วยเสียงข้างมาก) เป็นระบอบที่โลกสมัยปัจจุบันยอมรับเป็นส่วนใหญ่ โลกสมัยปัจจุบันมีการค้ามีการติดต่อสัมพันธ์ด้านต่างๆ จำเป็นจะต้องคบค้าสมาคมกันตลอดเวลา คงไม่มีทางเลือกอย่างอื่นที่ปลอดภัยได้ ยอมรับว่า พุทธศาสนามีความเจริญและมั่นคงในระบอบราชาธิปไตยมาก่อน แต่พุทธศาสนาก็จะต้องอยู่ในสภาพล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อระบอบประชาธิปไตยมีเครื่องมือสำคัย คือ “กฎหมาสย” และใช้เสียงข้างมากในการผ่านกฎหมายแต่ละเรื่อง พุทธศาสนาก็จะต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปให้ได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่พระสงฆ์จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” โดยตรง ไม่ว่า จะโดยการใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส เหมือนในหลายประเทศ หรือแม้แต่การเข้าฝักเข้าฝ่ายกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใดๆ พระอาจารย์สมภพเล่าเรื่อง “ผี” ชนิดต่างๆ ที่พระกรรมฐานเผชิญมา เช่นผียัยไว-ผีป่า-ผีก็องกอย ฯลฯ ลงท้าย ท่านพูดถึง “ผีด้ำ” (หมายถึง นักการเมือง และฝ่ายปกครอง ที่ประพฤติทุจริตในบ้านเมือง) พระอาจารย์เป็นห่วงว่า ผลประโยชน์ (เงินทอง) จะตกอยู่ในมือต่างชาติและต่างศาสนา เพราะผู้นำประเทศ โดยเฉพาะ ผู้บริหารในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยที่ไม่เป็น “พุทธมามกะ” อย่างพระเจ้าแผ่นดิน จะถูกซื้อไปทั้งสภา ซึ่งก็น่าเป็นห่วงอย่างที่ท่านห่วงนั้น เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครสองพุทธศาสนา อย่างที่ระบุไว้ชัดว่า “พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพุทธมามกะ” พระอาจารย์สมภพมองว่า “ผีด้ำ” คืออันตรายที่คอยซ้ำเติมอย่างคำกล่าวที่ว่า “ผีช้ำด้ำพลอย” “ด้ำ” เป็นผีร้ายชนิดหนึ่ง ที่กำลงมาในรูปยึดครองทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยเฉพาะ “แผ่นดิน” ที่ถูกต่างชาติยึดครอง (ซื้อ) อยู่เงียบๆ เช่นที่ลุ่มน้ำสงคราม (แม่น้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำโขง) ความยาวหลายแสนไร่จากเขื่อนแม่มูลถึงสามเหลี่ยมทองคำ ท่านบอกว่า พระในป่าแม้จะ “หลับตา” อยู่ในป่า แต่ก็มองเห็นว่าชาวต่างชาติและต่างศาสนากำลังยึดครองไว้หมด เพราะที่ดินราคาเพียงไร่ละ 300 บาท พระอาจารย์สมภพบอกว่า รัฐบาลให้พระตั้งวัดในป่าได้แต่ก็เพียง 15 ไร่ (แสดงว่า กฎหมายของรัฐไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรักษาป่าเลย ที่ดินแถบลุ่มน้ำสงครามนั้น ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป ไม่ออกโฉนดให้ แต่เมื่ออยู่ในมือของต่างชาติ จะออกโฉนดได้ทันที!) บนที่ดินที่พระอาจารย์สมภพชวนคนในหลายจังหวัดไปปลูกป่า จนเป็นป่า มีน้ำใช้ในหลายร้อยไร่ มีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดอยู่อาศัย ท่านให้ทำใจไว้ด้วยว่าในที่สุด เขาให้ตั้งวัดได้เพียง 15 ไร่ เหลือจากนั้นจะตกเป็นของรัฐ เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นป่าสงวน เป็นอุทยานแห่งชาติ ฟังพระท่านบอก ก็น่าเป็นห่วง เพราะแผ่นดินตกอยู่ในมือของกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยที่ “เงิน” ซื้อได้ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเห็นว่า พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้นจะเสื่อมก็เสื่อมหรือสูญ (อันตรธาน) เพราะชาวพุทธเองคือ ภิกษุ สามเณร ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา (เรียกว่าพุทธบริษัท 4) ไม่มีใครอื่นที่จะมาทำลายได้ มีศาสนาหนึ่งใช้วิธีเข้ามาทำลาย (เผาทำลาย) ขับไล่พุทธศาสนา แต่ก็หายสูญไปพักหนึ่ง ในที่สุด พุทธศาสนา ก็ฟื้นขึ้นมาอีก และทำท่าจะแพร่หลายต่อไป ผมได้ความรู้ดีๆ จากคำเทศน์ของพระอาจารย์สมภพมากมาย เช่นคำว่ “ปภสฺสรํ” ท่านแปลว่า (จิต) มีแสงในตัว ได้ความรู้ว่า คำว่า “ประภัสสร” คือ แสงที่สร้างออกไป ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง (ของจิต) จากกิเลส หมายความว่า สภาพของจิตนั้นมีแสงในตัวเอง ซึ่งในวงการพระกรรมฐานรู้ได้ด้วยสมาธิหรือฌาน พระอาจารย์สมภพอธิบายว่า พรหมหรือเทวดาชั้นรูปพรหม มีพรหมชั้นหนึ่ง เรียกว่า “อาภัสสรพรหม” เมื่อจุติไปเกิดในโลกอื่น จะไปเป็นแสง (คือไปด้วยจิตที่เป็นแสง) ท่านบอกว่า โลกแต่ละโลกหรือดาวแต่ละดวงนั้นมีอายุเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะเสื่อมหายไปจากจักวาล อาภัสสรพรหมก็จะไปเกิดใหม่ในโลกใหม่ โดยไปด้วยแสงหรือ จิต นั่นเอง อาภัสสรพรหมนี่แหละ คือ ประภัสสร คือเป็นแสงที่ไปเกิดใหม่ ท่านบอกว่า อาภัสสรพรหม คือผู้ได้ฌานชั้นทุติยฌานซึ่งมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือ “สงบประณีต” อาภัสสรพรหมนี่แหละที่ไปเกิดเป็นสัตว์โลก (ไม่ใช่มีใครสร้าง) อาจารย์เสถียร โพธินันทะ (พ.ศ.2472-2509) ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ บอกว่ามี photographic mind ก็กล่าวว่า “จิตเดิมแท้” แบบที่นิกายเซ็น (มหายาน) เชื่อนั้นไม่มีคำว่ “เดิม” หรือ “แท้” ไม่มีในคำบาลีพุทธพจน์ (ที่ตรัสว่า “ปภสฺสรมีทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิกเป็นประภัสสร) คำว่า “เดิม หรือ “แท้” ไม่มีในบาลี เป็นการแปลเพิ่มเข้ามาเอง ทำให้เข้าใจว่า มีจิตอีกดวงหนึ่งที่เป็นจิตเดิมแท้ต่างหาก อาจารย์เสถียร โพธินันทะ มีความเชื่อถือในพระบาลีของเถรวาท มากกว่าพระไตรปิฎกฉบับอื่น เมื่อได้ฟังคำอธิบายของพระอาจารย์สมภพ ซึ่งเป็นพระปฏิบัติทางสมาธิภาวนาโดยตรง ก็ยิ่งเห็นชัดว่า จิตมีสภาพเป็นอย่างไร แต่ความคิดของท่าน ที่คิดว่า “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญจะช่วยให้พุทธศาสนามั่นคงอยู่ในประเทศไทย ไม่น่าจะใช่