มูลนิธิชีววิถีชี้ประมาณเที่ยงน่าจะได้คำตอบ ได้ไปหรือดับฝัน และจะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของภาครัฐ กรณีน้ำมันกัญชาอ.เดชา ซึ่งเป็นที่กังขากันว่าเหตุใดจึงยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายว่าถูกกีดกันนั้น เพจมูลนิธิชีววิถี BIOTHAI โพสต์ข้อความระบุ “ วันนี้ (19/7/2562) จะมีการประชุมวาระสำคัญของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เป็นเลขานุการ โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาเคาะครั้งสุดท้ายว่าจะให้การรับรองตำรับยาน้ำมันเดชาของหมอพื้นบ้านเดชา ศิริภัทร หรือไม่ ? เนื่องจากเรื่องการขอให้รับรองน้ำมันเดชาได้ถูกส่งมายังอย.อย่างเป็นทางการแล้วแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่ข่าวคราวการบุกจับกุมนายพรชัย ชูเลิศ และมีหมายเรียกนายเดชา ศิริภัทร เป็นข่าวคราวโด่งดังเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ทั้งๆที่เป็นการครอบครองกัญชาเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยในช่วงระยะเวลานิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 นั้น ขณะนี้ระยะเวลาผ่านพ้นไปแล้วกว่า 3 เดือน ที่ความพยายามของ อ.เดชา ศิริภัทร ในการเดินหน้าแจกจ่ายน้ำมันเดชาแก่ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งแสนคนยังไม่สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย ทั้งๆที่เขาประกาศว่า พร้อมที่จะเป็นอะไรก็ได้พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้ เช่น ยื่นขอรับรองเป็นหมอพื้นบ้าน เข้าร่วมอบรมตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมโครงการวิจัยกับมหาวิทยาลัย การยื่นขอรับรองตำรับยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวิธีการสกัดน้ำมันให้เป็นแบบพื้นบ้านโดยใช้น้ำมันมะพร้าวแทน ฯลฯ กว่าจะมีการประชุมเพื่อรับรองตำรับยาของหมอพื้นบ้านครั้งสำคัญนี้ ตำรับน้ำมันเดชาซึ่งสกัดด้วยน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการภายใต้กรมการแพทย์แผนไทยฯมาแล้ว 3 คณะ ได้แก่ 1)คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2)คณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมและการใช้ยาแผนไทย ที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสม และ 3)คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นประธาน น่าสนใจว่าการประชุมซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการอย.เป็นผู้มีบทบาทสำคัญนี้จะทำให้ "น้ำมันเดชา" เป็น "สิ่งเสพติดให้โทษ" หรือเป็น "ยารักษาโรคสำหรับผู้ป่วยไข้" นับแสนคนที่รอยาจากหมอยาพื้นบ้านผู้นี้ หากมติของที่ประชุมปฏิเสธยาน้ำมันเดชาหรือชะลอเวลายื้อการรับรองยานี้ออกไปอีก ทั้งๆที่ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทยระบุว่าน้ำมันเดชาและวิธีการรักษาของเขานั้น "เป็นไปตามหลักการแพทย์แผนไทย 100%" อีกทั้งผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการของกรมการแพทย์แผนไทยมาแล้วถึง 3 คณะ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการ อย.ต้องตอบคำถามอย่างน้อย 3 ประการ 1) ในเมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันต้องการเอื้ออำนวยให้มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทำไมจึงยังคงกีดกันหมอพื้นบ้านและผู้ป่วยนับหมื่นนับแสนคนไม่ให้เข้าถึงยาทั้งๆที่ผ่านการกลั่นกรองละเอียดละออจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วหลายคณะ ? 2) ทำไมตำรับยาอภัยภูเบศรซึ่งมีน้ำมันกัญชา 5%และน้ำมันมะกอก 95% และหลายฝ่ายเชื่อว่า "ได้แรงบันดาลใจ" จากสูตรน้ำมันเดชา (น้ำมันกัญชา 3% และน้ำมันมะพร้าว 97%) ทั้งยังมีสาร THC ใกล้เคียงกันจึงได้รับอนุญาตให้สามารถครอบครอง ผลิต และจำหน่าย โดยนับระยะเวลาตั้งแต่การได้รับใบอนุญาตจนถึงสามารถใช้รักษาคนไข้ได้ ใช้เวลาเพียง 12-13 วันเท่านั้น ? 3) ทำไมอย.จึงสนับสนุนให้มีการอนุญาตให้ใช้น้ำมันกัญชาสูตรน้ำมันมะพร้าวรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง แต่กลับกีดกันตำรับน้ำมันเดชา ? ประมาณ 12.00 น. วันนี้ เราจะได้คำตอบว่า น้ำมันเดชา จะยังคงเป็นสารเสพติดให้โทษหรือยารักษาโรค ? พลังแห่งศีลธรรมเพื่อให้ผู้ป่วยทุเลาจากโรคร้าย กับ ระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานรัฐ อยู่กันคนละข้าง หรือยืนอยู่บนฟากเดียวกัน ?” ขอบคุณภาพประกอบ เพจมูลนิธิชีววิถี BIOTHAI