ร่วมสมัย: ชวนชมคอนเสิร์ตดนตรีไทยโจงกระเบนเต็มวง
ในครั้งนี้โปรมูสิกานำเสนอคอนเสิร์ตดนตรีไทยเต็มรูปแบบบนเวทีดนตรีศรีรัตนโกสินทร์ “THE SOUND OF RATTANAKOSIN” ภายใต้คอนเซปต์ ทศรัชเฉลิมราชย์ (THAI MUSIC OF THE CHAKRI DYNASTY) นำบทเพลงไทยในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านห้วงเวลาตลอดสิบรัชสมัย มาบรรเลงให้ฟังกันอย่างจุใจไปกับวงดนตรีโจงกระเบนเต็มวง ทั้งวงปี่พาทย์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ วงมโหรีอันอ่อนช้อยงดงาม เดี่ยวระนาดเอกแบบวิจิตรพิสดาร การเดี่ยวปี่ในที่เดินลมหายใจอย่างเหนือชั้น และพิเศษสุด วงเครื่องสายฝรั่งโปรมูสิกาจะร่วมบรรเลงในช่วงท้าย
เริ่มด้วยเพลงโหมโรงปฐมบรมจักรี รัชกาลที่ 1 บรรเลงและขับร้องโดยวงปี่พาทย์เครื่องห้า ประพันธ์และเรียบเรียงโดย ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ นำเพลงเก่าโบราณไม่ทราบนามผู้ประพันธ์ คือเพลงปฐม เพลงนางนาค และเพลงเทพทอง มาเรียบเรียงและประพันธ์เพิ่มเติมขึ้นเป็นเพลงโหมโรง ทั้งหมด 3 ท่อน มีความหมายถึงการเริ่มต้นราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นปฐมบทแห่งความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
รัชกาลที่ 2 มโหรีพระสุบิน : เพลงบุหลันลอยเลื่อน เล่ากันว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ เกิดจากพระสุบินนิมิตว่าได้ยินทำนองเพลงพร้อมกับทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ทำให้มีชื่อเรียกเพลงนี้หลายชื่อ คือ เพลงทรงพระสุบิน เพลงบุหลันลอยเลื่อน เพลงบุหลันลอยเลื่อนฟ้า เพลงสรรเสริญพระจันทร์ เพลงสรรเสริญเสือป่า กล่าวกันว่าในรัชสมัยนี้เป็นยุคทองของดนตรีไทยยุคหนึ่ง พระองค์ทรงโปรดการซอสามสาย มีซอคู่พระหัตชื่อว่า ซอสายฟ้าฟาด ในการบรรเลงครั้งนี้เป็นการเดี่ยวซอสามสายประกอบกับวงมโหรีเครื่องหกหรือที่เรียกว่ามโหรีโบราณ
รัชกาลที่ 3 เพลงชุดภาษา ทำนองเก่า กล่าวกันในสมัยนั้นเป็นยุคค้าขายเจริญรุ่งเรือง ติดต่อกับนานาประเทศ ทำให้มีการนำเอาสำเนียงภาษาและสำเนียงเพลงของชาติต่างๆ มาประพันธ์เป็นเพลงไทยล้อเลียนสำเนียงเหล่านั้น นิยมเรียกเพลงออกภาษา ต่อมาเรียงร้อยเป็นเพลงชุดสิบสองภาษา ในการบรรเลงครั้งนี้นำมาเรียบเรียงใหม่ในแบบฉบับย่อ 6 เพลงภาษา คือ เพลงจีนขิมใหญ่ เพลงสร้อยเพลงแขก เพลงลาวแพน เพลงเขมรเร็ว เพลงฝรั่งยีแฮม (มาร์ชิ่งทรูจอเจียร์) เพลงพม่าปองเงาะ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของเชื้อชาติที่อาศัยอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
รัชกาลที่ 4 แผ่นดินทองดนตรีไทย : เพลงตับเชิด เชิดจีน เชิดนอก เชิดชั้นเดียว ถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของดนตรีกวีศิลป์ในรัชสมัยนั้น ในการบรรเลงครั้งนี้ ได้นำเพลงเชิดจีนของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) มาร้อยเรียงแล้วบรรเลงต่อท้ายด้วยการเดี่ยวปี่ในเพลงเชิดนอกและรับท้ายด้วยเพลงเชิด ชั้นเดียวด้วยวงปี่พาทย์ บรรเลงสลับรับส่งกันภายในเพลง
รัชกาลที่ 5 เพลงชุดเทพบรรทมภิรมย์สุรางค์ ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณได้นำเพลงเทพบรรทม สามชั้น มาเรียบเรียงเป็นท่อนนำแล้วจึงต่อด้วยเพลงภิรมย์สุรางค์ สามชั้นท่อนที่ 1 ออกท้ายเพลงด้วยเพลงภิรมย์สุรางค์ ชั้นเดียว ประพันธ์โดยครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) แล้วจบท้ายด้วยลูกหมดสำเนียงฝรั่งที่แต่งขึ้นใหม่เป็นพิเศษ เรียกเพลงชุดนี้ว่า “เทพบรรทมภิรมย์สุรางค์” บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้แข็งผสมเครื่องสาย
รัชกาลที่ 6 เพลงตับวิวาหพระสมุทร ทำนองเก่า นับเป็นยุครุ่งเรืองการละครและดนตรี ละครเรื่องวิวาหพระสมุทร เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับความนิยมสูง นักดนตรีนิยมนำเพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงบังใบ และเพลงแขกสาหร่าย อยู่ในตอนหนึ่งของบทละครดังกล่าวมาบรรเลงและขับร้องเป็นเพลงตับ ฟังโดยไม่มีละครแสดง เรียกว่าเพลงตับวิวาหพระสมุทร ในการบรรเลงครั้งนี้ได้เรียบเรียงให้ดนตรีไทยบรรเลงพร้อมขับร้องด้วยวงมโหรีผสมเครื่องสายตะวันตก
รัชกาลที่ 7 เพลงราตรีประดับดาว พระองค์ทรงโปรดดนตรีไทยมาก ทรงพระปรีชาสามารถในการบรรเลงซออู้ พระราชนิพนธ์เพลงไทยไว้หลายเพลง เพลงราตรีประดับดาวนำเอาเพลงมอญดูดาวสองชั้นมาแต่งขยายและประพันธ์บทขับร้องด้วยพระองค์เอง เป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงไทย บรรเลงด้วยวงซออู้ ขิมและเครื่องสายตะวันตก
รัชกาลที่ 8 เพลงแสนคำนึง ประพันธ์โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีท่านสำคัญ ในห้วงชีวิตของท่านได้ประพันธ์เพลงให้ไว้เป็นสมบัติแก่ชาวไทยมากมาย เพลงแสนคำนึงเป็นบทประพันธ์สะท้อนออกมาจากความรู้สึกถึงบรรยากาศของเมืองไทยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ในการบรรเลงครั้งนี้ได้นำทำนองเพลงแสนคำนึงในท่อนที่ 1 มาเรียบเรียงให้ระนาดเอกเดี่ยวพร้อมกับวงเครื่องสายตะวันตก
รัชกาลที่ 9 เพลงโยคีถวายไฟ ในรัชกาลนี้ดนตรีไทยเกิดบทเพลงร่วมสมัยจากดุริยกวีรุ่นใหม่หลายท่าน ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียง เพลงโยคีถวายไฟนี้นำทำนองเพลงฟ้อนโยคี ที่เป็นเพลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์ทางภาคเหนือมาแต่โบราณ หมายถึงการบูชาคารวะเทพเทวดาและผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ การบรรเลงครั้งนี้ด้วยวงปี่พาทย์ เพื่อน้อมถวายสักการะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อชาวไทยตลอดมา
รัชกาลที่ 10 เพลงทศรัชเฉลิมราชย์ บทเพลงนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 บทเพลงมี 3 ท่อน 3 ลีลา บรรเลงขับร้องวงดนตรีไทยและเครื่องสายตะวันตก
รายการดนตรีศรีรัตนโกสินทร์ ภายใต้คอนเซปต์ ทศรัชเฉลิมราชย์ จะแสดงในวันพุธที่ 24 กรกฎาคมนี้ ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ รายละเอียดเนื้อหาคอนเสิร์ตและจองบัตรดูที่ www.promusicabkk.com
อีกหนึ่งสุดยอดคอนเสิร์ตดนตรีไทยโจงกระเบนเต็มวงผสมเครื่องสายตะวันตก ไม่ควรพลาดชม