วันนี้ ( 17 ก.ค. 62) นางวานิช อักษรภักดิ์ นายกสมาคมไทยพุทธรักชาติจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากการที่ได้รับฟังเสียงจากชาวบ้านไทยพุทธกลุ่มสุดท้ายไม่ถึง 20 คน ที่ ต.สากอ อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ชาวบ้าน สะท้อนว่า เหตุความรุนเเรงทำให้ชาวไทยพุทธกลุ่มใหญ่ที่เคยมีมากกว่า 120 ครอบครัว ได้ย้ายถิ่น ทำให้ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 20 คน ทั้งที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ 10 กิโลเมตร พื้นที่แห่งนี้ อยู่ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอรามัน จังหวัดยะลา กับ อำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์รุนแรงและเมื่อก่อนก็เกิดเหตุการณ์อยู่บ่อยครั้งระหว่างทางจากชุมชนไปวัด จึงไม่มีการยืนบิณฑบาต ของพระสงฆ์มาตั้งเเต่บัดนั้น จนถึงปัจจุบัน นายกสมาคมไทยพุทธรักชาติยะลา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ชาวบ้านจึงขอฝากเรียกร้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ได้นิมนต์พระ มายืนบิณฑบาต เเละสวดมนต์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจให้ชาวบ้าน โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบครั้งก่อน เพื่อให้ ไทยพุทธ ที่อาจจะเป็นกลุ่ม เเละรุ่นสุดท้ายที่มีอยู่ได้มีพระและวัดเป็นที่พึงทางใจได้ สำหรับรุ่นลูกหลานคงไม่กลับมาอยู่อีกต่อไปแล้ว ต่างไปอยู่นอกพื้นที่กันเกือบหมด เพราะยังไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย ด้าน พ.อ.สิทธิศักดิ์ เจนบรรจง ผบ. ฉก.ทพ.41 สั่งการเน้นย้ำให้กำลังพล เข้าพบปะเยี่ยมเยียน พัฒนาสัมพันธ์กับประชาชนไทยพุทธ เพื่อสอบถามปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการเพิ่มเติม และรับฟังปัญหาข้อขัดข้อง ข้อเสนอแนะ ของประชาชนชาวไทยพุทธในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา เพื่อต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่า ศาสนาใด เชื้อชาติใด ย่อมเป็นประชาชนชาวไทยอยู่ร่วมแผ่นดินไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีดำริให้หน่วยกำลังในพื้นที่รับผิดชอบ หมั่นลงพื้นที่พบปะประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีความอุ่นใจและลดความหวาดระแวง เข้าใจการทำงานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์เกิดประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ “ภารกิจหลักนอกจากหน่วยกำลังต้องดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยแล้ว สิ่งที่สำคัญที่ แม่ทัพภาคที่ 4 กำชับ คือ การสร้างมวลชนให้เกิดพื้นที่สันติสุข ปราศจากปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ควบคู่กัน เพราะหากยาเสพติดลดลงและหายไปจากพื้นที่ เชื่อว่าปัญหาอื่น ๆ ก็จะหมดไป เยาวชนในพื้นที่ถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องเฝ้าระวังที่สุด หากต้องพึ่งหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ฉะนั้น “ผู้นำท้องที่และผู้ปกครองควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังลูกหลานของตนเองด้วย และหากเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนช่วยกัน เชื่อเหลือเกินว่า ครอบครัวมีความสุข พื้นที่ชายแดนใต้ กลับมาสันติสุขแน่นอน” ผบ.ทพ.41 กล่าว.