นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเปิดเผยว่า เช้ามืดวันที่ 17 ก.ค.62 ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.02-05.59 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ โดยดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกแค่บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีลักษณะเว้าแหว่ง เห็นแจ่มชัดหลายพื้นที่ อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี ชัยนาท กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พัทลุง ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 01.44 น. ของวันที่ 17 ก.ค. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว แสงสว่างของดวงจันทร์ลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 03.02 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน สังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 04.31 น. ประมาณร้อยละ 65 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 05.59 น. (เช้าวันดังกล่าวในประเทศไทยดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 05.56 น.) รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนานเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์โดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 07.17 น. สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาในประเทศไทยครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค.63 เป็นจันทรุปราคาแบบเงามัว สังเกตเห็นได้ค่อนข้างยาก ภาพ-เรื่อง จากเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page