ทุกภาคส่วนเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำตะคองตอนล่าง ช่วงไหลผ่านเขตเมือง นครราชสีมา กรณีพบปลาซักเกอร์หรือปลาเทศบาล ขนาดลำตัวเฉลี่ยประมาณ 1 ฟุต รวมน้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ลอยตายอยู่เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำและสืบสวนหาสาเหตุปลาปลาซักเกอร์ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ กินอาหารไม่เลือกโดยใช้วิธีดูด คนไทยนิยมนำปลาซักเกอร์มาเลี้ยงในตู้ปลาสวยงาม เพื่อให้ทำความสะอาดดูดตะไคร่น้ำ ต่อมาเมื่อปลาตัวใหญ่มาก กินอาหารไม่พอ เริ่มไล่ดูดปลาอื่น จึงถูกนำมาปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอาหารสมบูรณ์ ทำให้เติบโตและแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นปลาอึดและทนกับสภาพแวดล้อมสามารถอยู่ได้ทุกลุ่มน้ำ ซึ่งยังเป็นปริศนาที่พบปลาซักเกอร์ตายจำนวนมาก สันนิษฐานเบื้องต้นไม่น่าเป็นการสิ้นอายุขัยและตายจากสภาพแวดล้อม จากการสังเกตแม้นลำตะคองตอนล่าง จะมีความเสื่อมโทรมระดับ 5 ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เฉพาะการคมนาคมทางน้ำเท่านั้น ก็ยังพบเห็นสัตว์น้ำจืดชนิดอื่นๆ สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้แต่ต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำมากกว่าปกติ นายฮาเล็ม เจะมาริกัน ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมาเปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ส่วนเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรณีลงพื้นที่ติดตามเหตุพบปลาลอยตายในคลองน้ำธรรมชาติ บริเวณเส้นทางลำตะคองตอนล่างช่วงไหลผ่านเขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่ใต้ประตูระบายน้ำ (ปตร.) คนชุม ถึง ชุมชนมิตรภาพ ซอย 4 ซึ่งเป็นจุดที่พบปลาตาย นำมาตรวจวิเคราะห์ภาคสนาม น้ำมีลักษณะขุ่นเล็กน้อย สีเขียวคล้ำและมีค่าออกซิเจนละลายน้ำหรือปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำสามารถบอกถึงคุณภาพ น้ำที่มีความสกปรกมักมีค่าออกซิเจนละลายต่ำ น้ำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต้องมีค่าออกซิเจนละลายไม่น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วงเวลาที่ตรวจช่วงสายวันนี้ ( 6 กรกฎาคม) พบค่าออกซิเจนต่ำกว่า 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตรและค่าแอมโมเนียละลายในน้ำ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ไม่พบซากปลาตายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามได้สอบถามชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียง ระบุปลาส่วนมากตายมาจากเหนือบริเวณลำตะคองช่วงมิตรภาพซอย 4 แล้วลอยติดอยู่ใต้สะพานข้ามทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่า ต่อมาได้เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณด้านหลังศูนย์การค้าเดอะมออล์ ชุมชนสำโรงจันทร์ สะพานข้ามวัดท่าตะโกและข้างโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา คุณภาพน้ำช่วงนี้มีออกซิเจนละลายในน้ำเฉลี่ย 3.0-5.0 มิลลิกรัมต่อลิตรและไม่พบปลาตายรวมทั้งค่าแอมโมเนียละลายในน้ำ ชาวบ้านที่พักอาศัยบอกเล่าไม่พบปลาตายแต่น้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็นและสีเขียวคล้ำ น้ำไหลเร็วขึ้น ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศน์เริ่มดีขึ้น นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำดิบในลำตะคองมีปริมาณน้อย จึงได้เพิ่มปริมาณระบายน้ำจากเดิมวินาทีละ 5 ลบ.เมตร เป็น 8 ลบ.เมตร โดยปรับยกบานประตูระบายน้ำ (ปตร.) คนชุม ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำตะคองตอนล่าง ช่วงไหลผ่านเขตเมือง นครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร และสนับสนุนการประปาท้องถิ่นรวมทั้งการปลูกข้าวนาปี