ตั้งแต่ตี 3 ถึงเกือบ 6 โมงเช้า เห็นได้ทั่วทุกภาคทั่วไทย ขณะเกิดครั้งต่อไปต้นปีหน้า แต่เป็นแบบเงามัวเห็นได้ค่อนข้างยาก นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า เช้ามืดวันที่ 17 ก.ค.62 ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.02-05.59 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีลักษณะเว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ในทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ทางใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และทวีปแอนตาร์กติกา สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วประเทศ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 01.44 น. ของวันที่ 17 ก.ค.62 ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว แสงสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 03.02 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 04.31 น. ประมาณร้อยละ 65 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 05.59 น. (วันดังกล่าวในประเทศไทยดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 05.56 น.) รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนานเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์โดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 07.17 น. นายศุภฤกษ์ กล่าวเว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกแค่บางส่วน เรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงหรือข้างขึ้น 15 ค่ำ หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาในประเทศไทยครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค.63 เป็นจันทรุปราคาแบบเงามัว สังเกตเห็นได้ค่อนข้างยาก