สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ภาพที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ กับกาแล็กซีน้ำวนจากนาซา โดยระบุ “กาแล็กซีน้ำวน” หรือ “M51” เป็นกาแล็กซีประเภทกังหันในกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ (Canes Venatici) ห่างจากโลกประมาณ 23 ล้านปีแสง ด้วยปฏิกิริยามหาศาลทำให้ดึงดูดกาแล็กซีขนาดเล็กใกล้เคียงเกิดเป็น “#กาแล็กซีคู่” (a) แสดงรายละเอียด M51 ในช่วงแสงที่ตามองเห็น (Visible Light) ถ่ายบนพื้นโลกด้วยกล้องโทรทรรศน์ KPNO (Kitt Peak National Observatory) ในรัฐแอริโซนา ที่ช่วงความยาวคลื่น 0.4 ไมโครเมตร (สีน้ำเงิน) และ 0.7 ไมโครเมตร (สีแดง) จากภาพจะเห็นแขนกังหันมีสีดำ เกิดจากฝุ่นที่หนาแน่นบดบังแสงดาวฤกษ์บริเวณนั้นเอาไว้ (b) แสดงรายละเอียดแสงที่ตามองเห็นในช่วงความยาวคลื่นสีน้ำเงินและสีเขียว จากกล้องโทรทรรศน์ KPNO รวมกับภาพถ่ายรังสีอินฟราเรดได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) แสดงเป็นสีแดงและสีเหลือง จากภาพ จะเห็นว่าแกนกังหันสีดำนั้นเริ่มสว่างขึ้นในช่วงคลื่นของรังสีอินฟราเรด (c) แสดงรายละเอียดรังสีอินฟราเรดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ในช่วงความยาวคลื่น 3.6 ไมโครเมตร (สีน้ำเงิน) 4.5 ไมโครเมตร (สีเขียว) และ 8 ไมโครเมตร (สีแดง) บริเวณสีน้ำเงินแสดงถึงดาวฤกษ์ที่กระจายอยู่รอบ ๆ กาแล็กซี ในขณะที่สีแดงคือบริเวณที่เป็นฝุ่นหนาแน่นประกอบด้วยคาร์บอนเป็นส่วนใหญ่ (d) แสดงรายละเอียดรังสีอินฟราเรดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ในช่วงความยาวคลื่น 3.6 ไมโครเมตร (สีน้ำเงิน) 8 ไมโครเมตร (สีเขียว) และ 24 ไมโครเมตร (สีแดง) เป็นช่วงคลื่นที่เหมาะสำหรับศึกษาเมฆฝุ่นและกลุ่มแก๊สร้อนในกาแล็กซี จุดสว่างสีขาวและสีแดงแสดงถึงแก๊สที่เป็นบริเวณก่อกำเนิดดาวฤกษ์ พลังงานจากดาวฤกษ์จะแผ่ออกไปยังฝุ่นและแก๊สที่อยู่รอบ ๆ ทำให้ปลดปล่อยคลื่นอินฟราเรดออกมา ข้อมูลภาพของ M51 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ที่ถ่ายในช่วงรังสีอินฟราเรดแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างทั้งสองกาแล็กซีอย่างชัดเจน จะเห็นว่ากาแล็กซีขนาดเล็ก (ด้านบน) ไม่มีฝุ่นอยู่เลย มีเพียงสีน้ำเงินจาง ๆ ที่คาดว่าเป็นตำแหน่งที่ดาวฤกษ์ถูกแรงดึงดูดระหว่างกาแล็กซีเหวี่ยงมารวมกัน และช่วยให้นักดาราศาสตร์ทราบว่า กลุ่มแก๊สจะรวมตัวกันหนาแน่นที่สุดบริเวณช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ ถึงแม้ว่ากลุ่มแก๊สเหล่านี้จะสังเกตได้ยาก แต่นักดาราศาสตร์ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าบริเวณที่มีเมฆฝุ่นนั้นจะมีกลุ่มแก๊สอยู่เสมอ เรียบเรียง: กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov http://www.narit.or.th