รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล ชาตรีในละครชาตรี แปลว่าอะไร? ในบทความ “กฎเกณฑ์นิรุกติวิทยา” ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสนอว่า คำ “ชาตรี” ใน ละครชาตรี น่าจะมีความหมายเกี่ยวพันไปถึงละครเร่ในเบงกอล ดังที่ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “ละครชาตรีเป็นละครชนิดด้นๆ... ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะเป็นละครชนิดที่ท่องเที่ยวไป จึบงได้สันนิษฐานว่า น่าจะเนื่องมาจากคำสันสกฤตว่า ยาตรี แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานประกอบ จนวันหนึ่งได้คุยกับสวามีสัตยานันทบุรีก็ได้ความว่า ในเบงกอล เรียกละครที่ไม่มีเวทีหรือละครซึ่งท่องเที่ยวไปนั้น ว่า ชาตรี Jatri และเมื่อได้สอบถามถึงรูปคำนั้นในภาษาสันสกฤต ก็ได้ความว่ามาจากยาตรี หรือ ยาตริน นั่นเอง ตัวยในภาษาสันสกฤตมาเป็น ช ในภาษาเบงกอลี ได้ และในภาษาไทยเราก็เป็นได้ เช่นคำว่า โชค ก็มาจากคำสันสกฤตว่า โยค ทั้งนี้ ไม่เป็นการขัดกับกฎเกณฑ์ในการแปรพยัญชนะ ข้าพเจ้าจึงถือว่า ชาตรี ซึ่งเป็นชื่อของละครชนิดหนึ่งนั้น มาจากคำว่า ยาตรี” แต่ใน “ร้องรำทำเพลง” สุจิตต์ วงษ์เทศได้เสนอว่า ละครโนราชาตรีนี้เป็นของท้องถิ่นภาคใต้ และตลอดสมัยอยุธยาเราก็ไม่เคยพบหลักฐานบันทึกชื่อการละเล่นว่าโนราหรือชาตรีแต่อย่างใด ดังนั้น ชื่อละครชาตรีจึงไม่ใช่ชื่อท้องถิ่นมาแต่เดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวบางกอกสมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนักใช้เรียกการละเล่นชนิดนี้ของชาวใต้ และละครชนิดนี้ก็ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวพันไปถึงการละเล่นในท้องถิ่นเบงกอลหรืออินเดียใดๆ ด้วย ส่วนชื่อว่าชาตรีนั้น น่าจะมีความหมายส่อไปในทางไสยศาสตร์ ดังคำว่า “คงกะพันชาตรี” เป็นต้น แต่คำว่า “ชาตรี” ในที่นี้เกี่ยวพันกับความเป็นไสยศาสตร์อย่างไร? ผมเห็นว่าบางส่วนจากบทความของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรอาจให้ความกระจ่างได้บ้าง ตรงที่ท่านพยายามให้อรรถาธิบายคำนี้ในอีกความหมายหนึ่ง ว่าหมายถึง “ผู้เชี่ยวชาญการรบ” ดังจะขอคัดมาให้พิจารณา ดังนี้ “...ชาตรี ที่หมายถึงเชี่ยวชาญในการรบนั้น ข้าพเจ้าได้พิจารณาตัวอย่างที่ใช้ คือ คงกะพันชาตรี และพิเคราะห์ดูความหมายตามตัวอย่างนี้แล้ว เห็นว่าการที่เป็นผู้คงกะพันนั้น ไม่ใช่ว่าต้องเป็นนักรบผู้กล้าหาญมาแต่กำเนิด แต่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในยุทธศิลป หรือยิ่งกว่านั้นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในอาคมหรือเวทเมนตร์ จึงจะเป็นผู้คงกะพันได้ถนัด... ในชั้นต้นได้พิจารณาดูคำสันสกฤตว่า ชาตรี ซึ่งแปลว่า มีตระกูลดี เทียบกับคำว่าอาชาไนย แต่ก็ยังไม่พอใจในความหมาย จึงได้มาพิจารณาคำสันสกฤตว่า ชญาตรี ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตามรูปศัพท์ย่อมมาเป็นคำไทยว่า ชาตรี ได้” และยังทรงสืบค้นการใช้คำว่า “ชาตรี” จากหนังสือจินดามณี ก็พบว่ามีการใช้ในความหมายนี้สอดคล้องกันกับข้อสันนิษฐาน ดังประโยคจากจินดามณีว่า “อันชาตรีโคลงกำหนดทั้งไม้เอกโทตามที่มีกำหนด ไม้เอก 7 อักษร กำหนดไม้โท 4 อักษร” จึงทรงมีข้อสรุปว่า “ชาตรี ในที่นี้ (หมายถึงในจินดามณีที่ยกมาข้างต้น) เห็นได้ชัดว่าหมายถึงผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อใช้ชาตรีในความที่หมายถึงผู้เก่งกล้าในการรบ ก็ใช้โดยนัยว่า ชาญชัย นั่นเอง ชาตรี กับ ชาญ จึงเป็นคำเดียวกัน แต่เป็นคนละรูป มาจากมูลศัพท์เดียวกัน” ภาพ...พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์