“กลุ่มคนข้ามเพศ” ร้อง “กสม.” ประสาน “กรมราชทัณฑ์” ให้ผู้ต้องขังข้ามเพศได้เทคฮอร์โมน อ้างเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่ความสวยงาม พร้อมวอนช่วย 2 นักศึกษา ม.พายัพ หลังคณะเภสัชฯ ห้ามแต่งกายตามเพศสภาพ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ และนายนพนัย ฤทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรมูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ นำรายชื่อเครือข่ายภาคประชาชน 134 ชื่อ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร เพื่อให้ศึกษาและประสานกรมราชทัณฑ์ ให้นักโทษในเรือนจำที่เป็นคนข้ามเพศได้รับสิทธิในการเข้าถึงฮอร์โมน
โดยนายศิริศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ในบางเรือนจำจะมีการแยกนักโทษที่เป็นคนข้ามเพศทั้งที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ให้ไปอยู่รวมกับนักโทษหญิง ส่วนที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด ยังมีการขังรวมกับนักโทษชาย เพียงแต่มีการแยกห้อง แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงฮอร์โมน โดยทางกรมราชทัณฑ์จะมองในมุมเรื่องความสวยงาม จึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้น คนที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ ก่อนเข้าเรือนจำมีการเริ่มใช้ฮอร์โมน เมื่อต้องหยุดกินฮอร์โมนก็จะทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน
ขณะที่คนที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ไม่มีลูกอัณฑะที่เป็นตัวผลิตฮอร์โมน ก็จะเหมือนผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง ก็ต้องได้รับฮอร์โมน ซึ่งก็จะเป็นตัวเดียวกับที่คนข้ามเพศใช้อยู่ แต่หากขาดฮอร์โมนก็จะมีปัญหาเรื่องอารมณ์และสุขภาพ ผมร่วง น้ำหนักเพิ่มขึ้น และบางรายอารมณ์แปรปรวนจนอาจเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท
จึงอยากให้คณะกรรมการสิทธิฯ ช่วยเหลือและจัดการปัญหาเหล่านี้ โดยให้ผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศสามารถเข้าถึงฮอร์โมน และบริการสาธารณสุขด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ให้ผู้ต้องขังทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงและสุขภาพในเรือนจำ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ แก้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และทุกคนในเรือนจำ ให้กรมราชทัณฑ์มีนโยบายให้ทุกเรือนจำปฏิบัติกับผู้ต้องขังทุกเพศตามหลักสิทธิมนุษยชน
“จากสถิติเมื่อเดือนพ.ค. 2561 ในจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศประมาณ 364,000 คน มีคนข้ามเพศที่เป็นผู้ต้องขัง 4,362 คน ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศถือเป็นสิ่งจำเป็น ก็เหมือนกับผ้าอนามัยของผู้หญิง การที่ผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศ ไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนได้นั้น กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่เรือนจำแสวงหาผลประโยชน์
จากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง พบว่าบางคนระบุว่าหากต้องการใช้ฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ที่ซื้อได้ในราคา 30 บาท ก็จะให้เจ้าหน้าที่เรือนจำไปหาซื้อมาให้ แต่จะคิดราคาสูงถึง 500 บาท โดยใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในสหกรณ์ที่ผู้ต้องขังมีสิทธิได้รับ” นายศิริศักดิ์ กล่าวและมองว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นปัญหาหนึ่งจากการที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองเพศสภาพ ซึ่งถ้าสามารถทำให้เรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่การมีกฎหมายดังกล่าวได้
นอกจากนี้ นายศิริศักดิ์ ยังได้มีการขอให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบกรณีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่เป็นผู้ชายข้ามเพศ และผู้หญิงข้ามเพศ แต่งชุดนักศึกษาและชุดครุยตามเพศสภาพ โดยอ้างว่าหากแต่งกายตามเพศสภาพจะถือว่าแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย และอาจทำให้ถูกหักคะแนนความประพฤติ ซึ่งอาจจะทำให้หมดสิทธิ์สอบ
ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กรณีคนข้ามเพศก็จะมีการแยกห้องให้ รวมถึงสับเปลี่ยนเวลาในการอาบน้ำ แต่กรณีการใช้ยาฮอร์โมน ทางเรือนจำยังมองในเรื่องของความสวยความงาม ไม่ใช่เรื่องของสุขภาพ ซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิ์ฯ เคยแต่ประสานกับทางเรือนจำกรณีผู้ต้องขังที่ต้องรับยาต้านเชื้อเอชไอวี จนทางเรือนจำยอมให้ผู้ต้องขังเก็บยาไว้กับตัว เพื่อที่จะได้ทานยาตรงตามเวลา ส่วนเรื่องการรับฮอร์โมนของคนข้ามเพศทางคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ขอศึกษาก่อน
สำหรับกรณีเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาข้ามเพศ ทางคระกรรมการสิทธิฯ เคยมีข้อเสนอไปหลายครั้ง และในหลายสถาบันการศึกษาก็มีการเปิดกว้างให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ ขนาดรัฐสภาก็มีการอนุญาตให้ส.ส.แต่งกายตามเพศสภาพได้ ซึ่งปัญหาที่มีการร้องเรียนก็จะมีการประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่อไป

