นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ “ร่วมลงขัน ชวนกันไปทำนา” จังหวัดยโสธร ปี 2562 โดยมีนายสุขสันต์ จันทราเลิศ เจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์อาวุโส สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร พร้อมด้วยส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เกษตรกรชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมเปิดกิจกรรม จำนวนกว่า 200 คน ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนาแปลงใหญ่ บ้านดู่ทุ่ง หมู่ 10 ตำบลดู่ทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
สืบเนื่องจาก นโยบายของจังหวัดยโสธร ได้ให้ความสำคัญเรื่องเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด ตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดยโสธร ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ทำให้จังหวัดยโสธรได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย และภายใต้วิสัยทัศน์ของจังหวัดยโสธร “ยโสธรเมืองแห่งเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน” จังหวัดยโสธร จึงได้เล็งเห็นว่าคนไทยทุกคนซึ่งเป็นผู้บริโภคมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย เพราะหากคนไทยได้บริโภคข้าวอินทรีย์มากขึ้น ก็จะส่งผลให้การทำเกษตรอินทรีย์ขยายตัวตามไปด้วย จังหวัดยโสธร จึงได้ทำโครงการ “ร่วมลงขัน ชวนกันไปทำนา” เพื่อรณรงค์และเชิญชวนให้คนไทยสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบการเป็น “หุ้นส่วน” โดยเชิญชวนบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งเป็นรายบุคคล กลุ่มบุคคล หรือบริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆ นำเงินมาร่วมลงขันทำนากับเกษตรกรของจังหวัดยโสธร ตั้งแต่ 1,000 บาท ขึ้นไป
โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1.ผู้ร่วมลงขัน 1,000 บาท จะได้รับข้าวสารหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 15 กิโลกรัม หรือข้าวสารหอมมะลิระยะปรับเปลี่ยน จำนวน 22 กิโลกรัม
2.ผู้ร่วมลงขัน 3,000 บาท จะได้รับข้าวสารหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 50 กิโลกรัม หรือข้าวสารหอมมะลิอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน จำนวน 70 กิโลกรัม
3.ผู้ที่ร่วมลงขัน 5,000 บาท จะได้รับข้าวสารหอมมะลิ 100 กิโลกรัม หรือ ข้าวสารหอมมะลิระยะปรับเปลี่ยน 125 กิโลกรัม
จังหวัดยโสธร ได้ดำเนินโครงการร่วมลงขัน ชวนกันไปทำนา ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ผลการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
1.ปี 2559 มีประชาชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 ราย มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 ไร่ จำนวนเงินร่วมลงขัน 154,000 บาท
2.ปี 2560 มีประชาชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 78 ราย แบ่งตามประเภทข้าวที่เข้าร่วมโครงการ เป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 7,040 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน 5,220 กิโลกรัม ข้าวเหนียวแดง 70 กิโลกรัม รวมปริมาณข้าวสารทั้งสิ้น 12,340 กิโลกรัม จำนวนเงินร่วมลงขัน 579,500 บาท
3.ปี 2561 มีประชาชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 85 ราย แบ่งตามประเภทข้าวที่เข้าร่วมโครงการ เป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 8,627 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน 230 กิโลกรัม ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 40กิโลกรัม รวมปริมาณข้าวสารทั้งสิ้น 8,897 กิโลกรัม จำนวนเงินที่ร่วมลงขัน 484,200 บาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร เกิดความเชื่อมั่นในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร ให้ผู้คนได้มาเรียนรู้แสวงหาหาประสบการณ์การทำนาเกษตรอินทรีย์ สัมผัสวิถีชีวิตแบบอีสาน ควบคู่กับการท่องเที่ยว เชิงศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดยโสธร ที่สำคัญได้รับประทานข้าวหอมมะลิอินทรีย์ สร้างเสริมสุขภาพให้มีความแข็งแรง สร้างงานสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ต่อไป