ถูกยกให้เป็นสถานการณ์ความตึงเครียดที่ประชาคมโลกต้องเฝ้าจับตา ตามคำเตือนของบรรดานักวิเคราะห์ และผู้สันทัดกรณี ที่ต่างล้วนชี้ไปเช่นนั้น สำหรับ การพิพาทระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” กับ “อิหร่าน” ในรอบนี้ ซึ่งนับวันจะทวีดีกรีเดือด จนน่าเป็นห่วงในสถานการณ์ว่าอาจจะบานปลายกลายเป็น “สงคราม” ปะทุขึ้นมาได้ ไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์ที่ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ” ตบเท้าถอนตัวออกจากข้อตกลง “แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action : เจซีพีโอเอ)” หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า “พี5บวก1” อันประกอบด้วยบรรดาประเทศที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน จนบรรลุข้อตกลงเมื่อปี 2558 (ค.ศ. 2015) ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ สหรัฐฯ และบวกอีกหนึ่ง คือ เยอรมนี ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทาง “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” มาร่วมขบวนด้วย แต่ปรากฏว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ พาสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า เป็นข้อตกลงผุๆ พังๆ ไม่ได้ผลในการบังคับใช้ต่ออิหร่าน เพราะอิหร่านยังสามารถหาช่องทางเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงไม่พอใจที่อิหร่าน สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธมุสลิมนิกายชีอะฮ์ ในการรุกคืบขยายอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลาง จนกลายเป็นชนวนพิพาทกับอิหร่านขึ้น นอกจากออกจากขบวนรถไฟในข้อตกลงข้างต้นแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ยัง “ลงดาบ” ด้วยมาตรการคว่ำบตร หรือแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ไฟพิพาทก็ยิ่งปะทุคุโชนขึ้น เหตุพิพาทยังถูกระบุว่า ลุกลามไปถึงการโจมตีหลายเหตุการณ์ ได้แก่ การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันของต่างชาติบริเวณอ่าวโอมาน ใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ จำนวนหลายลำ ตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อาทิ “โคคุกะ กลอเรียส" เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติญี่ปุ่น และ "ฟร็อนต์อัลแตร์" เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาตินอร์เวย์ ซึ่งตามข้อกล่าวหาของทางการวอชิงตัน ก็ระบุว่า อิหร่านมีส่วนพัวพันกับปฏิบัติการโจมตีข้างต้น เรือบรรทุกน้ำมันโคคุกะกลอเรียส สัญชาติญี่ปุ่น ที่ถูกโจมตีบริเวณอ่าวโอมาน การที่กองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ใช้จรวดยิงโจมตี “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” ของกองทัพสหรัฐฯ ด้วยข้ออ้างว่า โดรนลำดังกล่าวบินล้ำน่านฟ้าของอิหร่าน จนทางการวอชิงตัน ต้อง “เอาคืน” ด้วยการส่งปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ ใช้แฮกเกอร์ เจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ของระบบควบคุมการยิงจรวดและขีปนาวุธของกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน เป็นการตอบโต้ กรณีเรือตำรวจของอังกฤษที่ประจำการในช่องแคบยิบรอลตาร์ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จับยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านไป ด้วยข้อหาว่า ละเมิดมติคว่ำบาตรที่ส่งออกน้ำมันไปยังซีเรีย รวมถึงการที่กองทัพสหรัฐฯ มีแผนการที่จะจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรนานาชาติขึ้นมาดูแลช่องแคบฮอร์มุซ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ตลอดจนทางการสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ล่าสุด เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระทึก เมื่อกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ได้พยายามยึดเรือบรรทุกสัญชาติอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเหตุพิพาทที่บังเกิด ก็ได้ตะเลิดไปถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบรรดาชาติ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจที่เข้าไปมีเอี่ยวเกี่ยวข้องกับคู่กรณีแล้ว การนำเข้าน้ำมันดิบของจีน โดยใช้ท่าเรือของเมืองชิงเตา มณฑลชานตง เป็นท่าเทียบเรือ และลำเลียงน้ำมันสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทที่รับประกันภัยด้านการเดินเรือให้แก่บรรดาเรือบรรทุกน้ำมันทั้งหลายที่ใช้เส้นทางเดินเรือผ่านอ่าวโอมาน ช่องแคบฮอร์มุซ น่านน้ำของอิหร่าน โดยมีรายงานว่า อัตราค่างวดการประกันได้เพิ่มขึ้นไปถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึง 185,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า อัตราได้ทะยานขึ้นไปถึง 10 เท่า จากอัตราเดิม หลังเกิดเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันหลายครั้งหลายครา การต่อเรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่ง ของบริษัท ฮุนได เฮฟวี อินดัสตรี ในเกาหลีใต้ เหตุพิพาทยังได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อันสืบเนื่องจากกระบวนการขนส่งน้ำมันที่ประสบปัญหา โดยล่าสุด ราคาได้ทะยานพุ่งทะลุ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในการซื้อขายที่ตลาดเวสต์เทกซัสฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 2 เดือน ส่งผลต่อกลุ่มชาติผู้บริโภค เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ราคาพลังงานสะเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ โรงกลั่นน้ำมัน “แดลิม อินดัสเตรียล โค” ในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ เหตุพิพาทยังสะท้านไปถึงกลุ่มบริษัทที่รับจ้างต่อเรือบรรทุกน้ำมัน และธุรกิจการกลั่นน้ำมัน เช่น “ฮุนได เฮฟวี อินดัสตรี” ที่กระทบต่อรายได้ที่มีมูลค่ามากกว่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ ธรุกิจการกลั่นน้ำมันของ “แดลิม อินดัสเตรียล โค” จำนวนมูลค่าอีกกว่า 2.521 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหายวับไปกับเหตุพิพาทพ่นพิษใส่