เก็บตัวอย่างหินอีกรอบ เพื่อภารกิจไขรหัสความลับกำเนิดสุริยะ โดยเป้าหมายต่อไปเตรียมส่งยาน Rover-2 ลงจอด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เผยแพร่ความสำเร็จของวงการอวกาศญ่ี่ปุ่นอีกครั้งกับภารกิจของยานฮายาบูสะ 2 โดยระบุ "เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 เวลา 08:06 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานฮายาบูสะ 2 ร่อนลงสัมผัสพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวงูเป็นครั้งที่ 2 พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างหินได้สำเร็จ ยานฮายาบูสะ 2 (#Hayabusa2) เป็นยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยสัญชาติญี่ปุ่น ขององค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อสำรวจวัตถุในแถบดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อว่า “ริวงู (#Ryugu)” อยู่ห่างจากโลกประมาณ 300 ล้านกิโลเมตร และเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยริวงูเมื่อ วันที่ 27 มิถุนายน 2561 ฮายาบูสะ 2 ร่อนลงสัมผัสพื้นผิวครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ใช้อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นปืน ยิงกระสุนใส่พื้นผิวดาวเคราะห์น้อย จากนั้นเก็บตัวอย่างดินและหินที่ฟุ้งกระจายออกมา แล้วทะยานกลับขึ้นสู่ตำแหน่งปลอดภัยในวงโคจร ล่าสุด ยานฮายาบูสะ 2 ร่อนลงสู่พื้นผิวริวงูสำเร็จอีกครั้ง ในตำแหน่งที่ยานเคยสร้าง “หลุมอุกกาบาตเทียม” หรือบริเวณที่ยิงกระสุนปืนให้เนื้อสารที่อยู่ภายในกระจายออกมา ซึ่งความยากในรอบนี้คือ ทีมนักวิจัยต้องระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดใดๆ เพราะข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้สูญเสียตัวอย่างหินจากการลงสัมผัสรอบแรกได้ และในที่สุดพวกเขาก็ทำได้สำเร็จ ยานสามารถร่อนลงเพื่อเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมได้อย่างสมบูรณ์แบบ “ยานเคลื่อนที่ได้อย่างไร้ที่ติ รวมถึงการเตรียมการของทีมสมบูรณ์แบบ หากให้คะแนนเต็ม 100 การลงสัมผัสครั้งนี้ผมให้ 1,000 คะแนน” ยูอิจิ ทซึดะ (Yuichi Tsuda) หนึ่งในทีมนักวิจัยจาก JAXA กล่าว วัตถุประสงค์หลักของการสำรวจครั้งนี้ คือ การศึกษาดาวเคราะห์น้อย หนึ่งในวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งอาจตอบคำถามได้ว่า “ระบบสุริยะกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ?” ฮายาบูสะ 2 ได้นำยานสำรวจขนาดเล็กติดไปด้วยอีก 4 ลำ ได้แก่ Rover-1A, Rover-1B, Rover-2 และ MASCOT โดย 3 ใน 4 ของยานขนาดเล็กได้ลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยแล้ว เหลือเพียง Rover-2 เท่านั้นที่มีกำหนดส่งลงจอดช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เป้าหมายต่อไปของฮายาบูสะ 2 คือการส่งยาน Rover-2 ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยริวงู จากนั้นออกเดินทางจากริวงูช่วงปลายปีนี้ และคาดว่าจะกลับมาถึงโลกปลายปี พ.ศ. 2563 เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : [1] https://phys.org/…/2019-07-japan-hayabusa2-probe-touchdown-… [2] http://www.hayabusa2.jaxa.jp/…/20190711e_PPTD_ImageBulletin/”