ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง กุมภาฯเดือนสาม นมัสการพระบรมธาตุ เมืองไทยในมุมเทศกาลงานบุญประเพณี ศิลปการแสดงทางวัฒนธรรมแล้วมีอยู่ทั่วทุกถิ่น เพียงขึ้นอยู่กับเทศกาลท้องถิ่นนั้นจัดขึ้นในช่วงวันเวลาเดือนใด บ่อยครั้งของผู้ที่ชื่นชอบเที่ยววิถีเทศกาลบุญประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ต้องสืบเสาะค้นหาข้อมูลทางโลกโซเชียลมีเดียที่มีการประชาสัมพันธ์เทศกาลนั้นๆ หรือไม่ก็หาหนังสือแนวท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมาเป็นไกด์บุ๊ก ที่บรรดาภาครัฐ เอกชน จัดทำแผ่นพับแจกตามบูธท่องเที่ยว หรือสำนักพิมพ์ต่างๆ ตีพิมพ์เล่มออกมาให้เลือกอยู่จำนวนไม่น้อย อยางเช่นหนังสือ “เทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีทั่วไทย 2560” เป็นอีกเล่มหนึ่ง ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ออกมา รวบรวมกิจกรรมทางวัฒนธรรมของจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร คัดเลือกมา 178 รายการ ลงไว้ในเล่ม หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่ผู้ชื่นชอบเที่ยวแนวศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต น่าจะมีติดตัวเป็นไกด์บุ๊กไว้สักเล่มหนึ่ง เมื่อพลิกเข้าไปในเนื้อหา เสมือนปฏิทินกิจกรรมทางวัฒนธรรมในแต่ละเดือน (12เดือน) บอกแหล่งสถานที่ จังหวัด และวันเวลาที่จัดขึ้น นำเสนอข้อมูลกว้างๆ พร้อมภาพประกอบ อย่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปฏิทินจันทรคติไทย ตรงกับเดือนสาม ทางภาคอีสานมีงานนมัสการพระธาตุ ทางภาคใต้มีงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ยกมาสังเขป นมัสการพระธาตุพนม จ.นครพนม พระธาตุพนมเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง สปป.ลาว ในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี พุทธศาสนิกชนจะหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศเพื่อมาสมโภชและนมัสการพระธาตุพนม วันแรกจะมีการแห่พระอุปคุต ต่อจากนั้นจะเป็นการรำบูชาพระธาตุพนม ซึ่งเป็นการแสดงที่ตระการตามาก ระหว่างวันที่ 4 – 11 กุมภาพันธ์ ที่ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ มีประเพณี นมัสการพระธาตุพนมจำลอง กิจกรรมสืบสานอนุรักษ์ประเพณีนมัสการพระธาตุพนมจำลอง โดยรำบูชาพระธาตุด้วยการฟ้อนศรีโคตรบูรณ์ เชื่อว่าได้อานิสงส์แก่ผู้รำและครอบครัว ถือว่าได้ทำบุญถวายพระพุทธเจ้า ชาวอำเภอห้วยเม็กถือเอาวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เป็นวันเริ่มต้นการเฉลิมฉลองสมโภชองค์พระธาตุพนมจำลอง ระหว่างวันที่ 2 – 7 กุมภาพันธ์ นมัสการพระบรมธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม พระบรมธาตุนาดูน เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นจำลองตามแบบสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในบริเวณเมืองนครจำปาศรีเดิม ช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา เพื่อสืบทอดทางพระพุทธศาสนา รอบองค์พระธาตุ และทุกปี ประชาชนมากราบไหว้พระบรมธาตุนาดูนจำนวนมาก จนได้รับนามเรียกขานว่า “พุทธมณฑลอีสาน” งานมีขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 12 กุมภาพันธ์ ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ประเพณีเก่าแก่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ช่วงวันมาฆบูชา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ดังคำว่า “ร้อยมาลัยข้าวตอก แทนดอกมณฑารพ นบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” โดยชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวเปลือกมาคั่วไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกัน จนแตกออกเป็นข้าวตอกขาว แล้วจึงนำมาร้อยเป็นมาลัยสาย ซึ่งมีความสูงนับสิบเมตรและประดับตำแหน่งอย่างงดงามหลากหลายรูปแบบ การร้อยข้าวตอกเป็นมาลัยสายยาว เป็นการสื่อความหมายแทน “ดอกมณฑารพ” ซึ่งเป็นดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์ที่มีความสวยงามและหอมเป็นพิเศษ จะบานและร่วงหล่นลงยังโลกมนุษย์เฉพาะในวันที่มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ประเพณีจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 กุมภาพันธ์ แห่ผ้าขึ้นธาตุ จ.นครศรีธรรมราช กิจกรรมบูชาพระพุทธองค์ ชาวพุทธในจังหวัดนครศรีธรรมราชจากทุกที่มุ่งมาสักการะ โดยเตรียมผ้าพระบฏเพื่อนำขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ นิยมใช้สีขาว เหลือง แดง พุทธศาสนิกชนจะเตรียมผ้าขนาดยาวตามศรัทธา นำผ้ามาผูกต่อกันเป็นขนาดยาวที่สามารถห่มพระบรมธาตุรอบองค์ได้ หรือบริจาคเงินสมทบในขบวนผ้าพระบฏก็ได้ หรือตกแต่งชายขอบผ้าประดับด้วยริบบิ้นพู่ห้อยแพรพรรณ ลวดลายดอกไม้สวยงาม ซึ่งผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ผืนพิเศษจะเขียนภาพพุทธประวัติทั้งผืนยาวโดยช่างผู้ชำนาญ เพื่อเป็นพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 กุมภาพันธ์ และที่ จ.พัทลุง วัดเขียนบางแก้วมีประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุพระมหาธาตุเจดีย์ จัดขึ้นระหว่างช่วงเวลาเดียวกัน นอกเหนือจากที่ร่ายข้างต้นแล้ว ในเดือนนี้ยังมีอีกหลายกิจกรรม ทั้งงานประจำปีและที่โดดเด่นเกี่ยวกับวิถีชีวิต หัตถศิลป์ รวมถึงงานอนุรักษ์ของสกุลช่างของแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ลองหาหนังสือ “เทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีทั่วไทย 2560” เล่มนี้มาไว้เป็นคู่มือไกด์บุ๊ก จะได้เตรียมตัวจัดตารางวันว่างตัวเองให้ลงล็อกแต่เนิ่นๆ ขับรถ สะพายเป้ ไปร่วมสัมผัสเทศกาลนั้นๆ แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวพื้นที่และเรียนรู้วิถีสังคมวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นไปในตัวด้วย กางปฏิทินวัฒนธรรมแล้วไปยลเทศกาลงานบุญประเพณี วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมกัน