กรณีไฟปริศนาที่ลุกไหม้ใต้ดิน ริมหนองน้ำหนองมัด ที่ หมู่ 9 บ้านเชียงพิณ ต.เชียงพิณ อ.เมือง ติดที่นาปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ของ นางปัทมา พิมพ์สาลี อายุ 62 ปี ซึ่งไฟลุกไหม้อยู่ใต้ดิน เป็นเวลานานกว่า 5 เดือน มีควันสีขาวฟุ้งกระจายออกมา มีกลิ่นเหม็นเหมือนกำมะถันไหม้ ซึ่งทาง ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.เชียงพิณ ได้เปิดหน้าดิน นำรถน้ำฉีดดับไฟใต้ดิน พร้อมขุดร่องกว้างประมาณ 1 เมตร ลึก 1 เมตร ล้อมรอบจุดที่เกิดไฟไหม้ใต้ผิวดิน พื้นที่ประมาณ 50 ตารางวา ป้องกันไม่ให้ไฟใต้ดินไหม้ลุกลาม และกันวัว ไม่ให้เข้าไปบริเวณไฟไหม้ โดยที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่จาก สนง.สิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 และจาก สนง.อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น ที่คาดว่าน่าจะเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์มานาน ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยได้เดินทางไปยัง สนง.อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมือง พบกับ นายยุทธศิลป์ รักญาติ ผอ.สนง.อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี เพื่อขอทราบความคืบหน้า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบเบื้องต้น นายยุทธศิลป์ รักญาติ ผอ.สนง.อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9 ได้นำตัวอย่างก้อนดินสีดำ ที่นำมาจากจุดที่ไฟไหม้ใต้ดิน บอกว่าดินนี้ติดไฟได้ ซึ่งตนได้ดูตามกาพภาพของตัวอย่างดิน ที่มีสีดำคล้ายถ่าน มีกลิ่นกำมะถัน และกลิ่นโคลน และบอกว่าขุดขึ้นมา ที่สักษณะเหมือนดินที่เป็นซากทับถมของซากพืชซากสัตว์ในแอ่ง แล้วกลายเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ หรือ PEAT โดยอาจจะลุกติดไฟได้ กรณีที่มีการเผาไหม้ หรือมีสภาวะที่พร้อมจะติดไฟ ซึ่งเมื่อดินเกิดการเผาไหม้ใต้ดินไปแล้ว ก็อาจจะเกิดเป็นโพรงใต้ดิน หรือสัตว์ตกลงไปอาจได้รับอันตราย “ส่วนการป้องกันเบื้องต้น ควรนำดินมาถมปิดแล้วบดอัดให้แน่น เพื่อไม่ให้ถ่านหินสัมผัสอากาศหรือออกซิเจนมาช่วยการสันดาบลุกไหม้ขึ้นมาอีก ทั้งนี้ในส่วนของ อบต.ท้องถิ่น หากจะขอความร่วมมือแก้ไขและตรวจสอบ ควรจะทำหนังสือไปยัง สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทสจ.อุดรธานี เพื่อให้ทาง ทสจ.ส่งเรื่องต่อไปยังกรมทรัพากรธรณี ได้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่า สภาพทางธรณีเป็นอย่างไร ดินที่ติดไฟเป็นอะไรแน่ ทำไมดินถึงลุกติดไฟได้ ผมในฐานะตัวแทนของอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 เรามีนักธรณีวิทยา แต่ว่าจะดูด้านของเหมืองแร่ ยินดีที่จะให้ความร่วมมือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายยุทธศิลป์ฯ กล่าวอีกว่า ความเห็นส่วนตัวของตน ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณีมาดูให้ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร การป้องกันเบื้องต้น ทาง อบต.เชียงพิณ ที่ดูแลพื้นที่ ควรกำหนดขอบเขตป้องกันให้ชัดเจน และป้ายเตือนชาวบ้าน เข้าไปบริเวณดังกล่าว และหาวิธีดับไฟเบื้องต้น ด้วยการนำดินมาบดอัดให้แน่น ส่วนควันที่พวยพุ่งออกมา จากซากที่ตกตะกอน มันจะมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ซึ่งกลิ่นจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจบ้าง “ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่เกิดจากการเผาไหม้ ควรจะเลี่ยงไม่สูดดม หรือหาหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ หากกลิ่นรุนแรงก็อาจจะระคายเคืองต่อระบบหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นภูมิแพ้ หากสัมผัสผิวหนัง อาจะเกิดระคายเคืองแสบคันได้ ที่สำคัญในการดับไฟ คือ ห้ามใช้น้ำฉีดดับไฟที่บริเวณดังกล่าว เพราะนำจะทำปฎิกิริยา ทำให้ไฟลุกไหม้มากขึ้น และจะทำให้ดเกิดควันมากขึ้น ส่วนน้ำในหนองน้ำต้องวัดค่าความเป็นกรดด่าง เพราะว่าหนองอยู่ติดกับจุดไฟไหม้ ที่อาจจะซึมลงใต้ดินเข้าไปในหนองน้ำ จึงยังไม่ควรนำน้ำในหนองหมัดมาใช้อุปโภคบริโภค หรือทำการเกษตร” ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าพื้นที่ที่ริมหนองน้ำหนองหมัดอีกครั้ง พบว่าที่บริเวณดังกล่าว ยังคงเกิดควันสีขาวจากการลุกไหม้ใต้ดินเหมือนเดิม และยังมีกลุ่มควันขึ้นเพิ่มอีก 1 จุด ที่บริเวณใต้ต้นขี้เหล็กริมหนองน้ำ ห่างจากจุดที่ไฟไหม้เดิมประมาณ 10 เมตร นอกแนวขุดกั้น โดยยังไม่มีการกันแนว หรือนำดินมาถมทับแต่อย่างใด