ยกฟ้อง “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อดีตอธิการบดีนิด้าพ้นผิด ม.157 ชี้ ไม่มีเจตนาแกล้งนักศึกษาปริญญาโทไม่ให้จบการศึกษา ด้าน “บรรเจิด สิงคะเนติ” คณบดีคณะนิติฯ และ “นายนเรศร์ เกษะประกร” ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ผิดตามฟ้อง เจตนานำข้อมูลคลาดเคลื่อนเข้าสู่ที่ประชุม ส่งผลให้ยกเลิกกรรมการสอบวิทยานิพนธ์เดิมของโจทก์ทำให้ไม่จบการศึกษา ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่น แต่จำเลยไม่เคยรับโทษ ให้รอลงอาญาคนละ 1 ปี เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.281-282/2561 นายธนกฤต ปัญจทองเสมอ หรือนายสมศักดิ์ ทองเสมอ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชากฎหมายสำหรับนักบริหาร คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นโจทก์ฟ้องนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า จำเลยที่ 1 นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อดีตรอง อธก.นิด้า และประธานกรรมการที่ประชุมคณบดีและผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (ทคอ. การศึกษา) เป็นจำเลยที่ 2 นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์และประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เป็นจำเลยที่ 3 นายนเรศร์ เกษะประกร อดีต ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เป็นจำเลยที่ 4 นายสุนทร มณีสวัสดิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เป็นจำเลยที่ 5 น.ส.วริยา ล้ำเลิศ อาจารย์คณะนิติศาสตร์และกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ เป็นจำเลยที่ 6 น.ส.วราภรณ์ วนาพิทักษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์และกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เป็นจำเลยที่ 7 (โจทก์ถอนฟ้อง) นายกิตติภูมิ เนียมหอม อาจารย์คณะนิติศาสตร์และกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เป็นจำเลยที่ 8 นางอัจชญา สิงคาลวานิช ผอ.กองบริหาร การศึกษาและกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ เป็นจำเลยที่ 9 น.ส.ภัทริน วรเศรษฐมงคล เลขาฯ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ เป็นจำเลยที่ 10 นายธวัชชัย ศุภดิษฐ์ เป็นจำเลยที่ 11 น.ส.บุญอนันต์ พินัยทรัพย์ เป็นจำเลยที่ 12 นายบุญชัย หงส์จารุ เป็นจำเลยที่ 13 น.ส.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล เป็นจำเลยที่ 14 น.ส.วัชรีภรณ์ ไชยมงคล เป็นจำเลยที่ 15 นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นจำเลยที่ 16 นายสมบัติ กุสุมาวลี เป็นจำเลยที่ 17 นายสุดสันต์ สุทธิพิศาล เป็นจำเลยที่ 18 นางอุบลวรรณ เปรมศรีรัตน์ เป็นจำเลยที่ 19 นายปราโมทย์ ลือนาม เป็นจำเลยที่ 20 น.ส.รุ่งทิพย์ ศิริปิ่น หัวหน้าสำนักงานเลขาฯ คณะนิติศาสตร์นิด้า เป็นจำเลยที่ 21 และ น.ส.จารุณี พันธ์ศิริ เจ้าหน้าที่ธุรการประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์นิด้า เป็นจำเลยที่ 22 เป็นจำเลยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย พร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง กรณีโจทก์สอบวิชาวิทยานิพนธ์ตามกระบวนการและระเบียบคณะนิติศาสตร์นิด้า เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการสอบมีมติให้ผ่านการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์เมื่อวันที่ 26 มี.ค.55 ให้ปรับปรุงแก้ไขแต่ไม่ต้องสอบใหม่ และให้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์วันที่ 25 เม.ย.55 ซึ่งผ่านในระดับดี โจทก์จึงดำเนินการเกี่ยวกับรูปเล่มที่ได้รับอนุมัติจนมีสิทธิ์จบการศึกษา ตามข้อบังคับสถาบันว่าด้วยการศึกษา 2549 จำเลยที่ 3 และเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อขออนุมัติสำเร็จการศึกษาให้โจทก์ เพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2555 แต่พวกจำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์ตามปกติ มีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย มูลเหตุจากโจทก์เคยร้องเรียนเรื่องทุจริตการเงินในคณะนิติศาสตร์ต่อดีเอสไอ สน.ลาดพร้าว และ ป.ป.ช. โดยจำเลยให้ข้อมูลกล่าวหาว่า โจทก์ร่วมกับผู้อื่นร้องเรียนให้ร้ายมุ่งทำลายคณะนิติศาสตร์ให้เสียหาย และอ้างว่า การจัดสอบวิทยานิพนธ์ให้โจทก์ขัดต่อข้อบังคับของนิด้าที่ว่า ห้ามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเป็นประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ฯ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ประธานกรรมการสอบครั้งนั้นไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักหรืออาจารย์ที่ปรึกษาร่วมของโจทก์ จำเลยยังมีเจตนาให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการ ทคอ.การศึกษา ร่วมกระทำผิดเพื่อไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา จนกระทั่งวันที่ 6 พ.ย.55 พวกจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ พิจารณายกเลิกคำสั่งสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจและพ้นระยะเวลาแล้ว การศึกษาดังกล่าวโจทก์ต้องชำระค่าเรียนเป็นเงิน 234,700 บาท หากสำเร็จการศึกษาโจทก์มีโอกาสได้รับเงินเดือนเพิ่ม ดังนั้นโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาการกระทำของจำเลย ให้ชดใช้ค่าการศึกษา และการขาดประโยชน์รวมเป็นเงิน 1,484,700 บาท จำเลยที่ 1-22 สู้คดีให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2560 ว่า นายสมบัติ อดีตอธิการบดีนิด้า จำเลยที่ 1 และนายบรรเจิด คณบดีคณะนิติศาสตร์และประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จำเลยที่ 3 ผิดตามมาตรา 157 เจตนายังไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา อันอยู่ในขอบข่ายของความรับผิดทางอาญา แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และ3 เป็นข้าราชการและนักวิชาการที่ไม่ปรากฏว่า กระทำความผิด ให้รอการกำหนดโทษไว้เป็นเวลา 3 ปี (ศาลตัดสินว่ามีความผิด แต่ยังไม่กำหนดอัตราโทษว่า ควรจะจำคุกเท่าใดหรือปรับเท่าใด) ส่วนจำเลยที่ 2 4-22 ให้ยกฟ้องและให้ยกฟ้องคำขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนแพ่งด้วย ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว กรณีนายบรรเจิด คณบดีนิติศาสตร์จำเลยที่ 3 นายนเรศร์ ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จำเลยที่ 4 ถูกฟ้องว่า ก่อนสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ร่วมกับจำเลยที่ 21-22 ขัดขวางการสอบของโจทก์ หลังโจทก์สอบวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ส่งวิทยานิพนธ์ตรวจสอบรูปเล่ม และไม่ส่งผล การอนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัย ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กรณีที่อ้างมีการขัดขวางยังไม่มีความชัดเจนถึงการกระทำของจำเลยจนถึงขนาดว่า ไม่สามารถดำเนินการ สอบต่อไปได้ โจทก์ยังสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ได้ตามกำหนด กรณีนี้จึงยังไม่พอฟังว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตามการที่นายบรรเจิด คณบดีนิติศาสตร์ จำเลยที่ 3 ยึดถือเอารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น ซึ่งไม่ตรงประเด็นตามที่โจทก์ร้องเรียนและคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง รายงานต่อนายสมบัติ อดีต อธก.นิด้า จำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งคณะนิติศาสตร์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุม ทคอ.การศึกษาจนที่ประชุมมีมติเห็นด้วยว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์ตามคำสั่งไม่ถูกต้อง แล้วจำเลยที่ 3 นำเอามติที่ประชุมดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมาย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.55 ยังยืนยันว่าคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์เป็นการลงนามที่ไม่ชอบ การแต่งตั้งไม่ถูกต้องตามองค์ประกอบ กระทั่งที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของโจทก์ใหม่เพื่อยกเลิกคำสั่งเดิม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งคณะนิติศาสตร์แต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมของโจทก์ น่าจะ เป็นการออกคำสั่งที่ผิดพลาดไม่ตรงต่อความเป็นจริง เท่านั้น อยู่ในวิสัยแก้ไขให้ถูกต้องหรือยกเลิกตั้งแต่แรกได้ แต่คณะนิติศาสตร์โดยจำเลยที่ 3 ไม่ทำเช่นนั้น อ้างว่าไม่ทราบเรื่องการสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์มาก่อน เพิ่งรู้วันที่ 24 เม.ย.55 ขัดกับรายงานการประชุมอาจารย์คณะนิติศาสตร์เมื่อวันที่ 19 เม.ย.55 ขณะที่การสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ทำโดยเปิดเผยที่ห้องประชุมคณะ ข้ออ้างจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ขณะที่นายนเรศร์ ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จำเลยที่ 4 ทราบข้อเท็จจริงเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษาและการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลักสูตรที่ตนเป็นผู้อำนวยการ แต่ปกปิดไม่บอกข้อมูลแก่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กลับให้ข้อมูลการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ว่า เป็นการนัดหมายกันเอง ขัดกับรายงานการประชุมอาจารย์คณะนิติศาสตร์ การกระทำของจำเลยที่ 3-4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยมีเจตนาเดียวกันคือ ไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา พิพากษาแก้เป็นนายบรรเจิด จำเลยที่ 3 กับ นายนเรศร์ จำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 157 อันเป็นความผิดกรรมเดียว ให้จำคุกคนละ 1 ปีและให้ปรับคนละ 10,000 บาท ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3-4 เคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นควร ให้โอกาสได้ทำงานด้านวิชาการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการต่อไป โทษจำคุกให้รอลงอาญาคนละ 1 ปี และพิพากษาให้ยกฟ้องนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จำเลยที่ 1 ส่วนค่าสินไหมทดแทน 1.4 ล้านบาท เห็นว่าคดีนี้เป็นการกระทำอันเนื่องมาจากการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต้องฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดให้รับผิด จะฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ แต่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนิด้าไปแล้ว มูลคดีอาญาจึงยุติ สิทธิเรียกทางแพ่งกับนิด้าจึงตกไป นอกจากที่แก้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งนี้ผลคดียังไม่ถือเป็นที่สุด ตามขั้นตอนกฎหมายคู่ความยังฎีกาได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากเป็นการยื่นฟ้องก่อนมีศาลอาญาคดีทุจริตฯ