“ไพรินทร์”ชี้บอร์ด กทพ.เดินหน้าตามมมติ ครม.แลกหนี้ทางด่วน 1.3 แสนล้านด้วยสัมปทาน ย้ำเป็นทางออกดีที่สุด โยนรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ ย้ำอย่าเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน ยันไม่ปรับค่าผ่านทางตามเกณฑ์ กทพ.มีหวั่นซ้ำรอย ขสมก.-การรถไฟฯ-การบินไทยที่มีหนี้สะสมเกินวิกฤติจนรัฐบาลต้องมาโอบอุ้ม
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมเปิดเผยว่า กรณีที่มีหลายฝ่ายคัดค้านมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ให้ขยายระยะเวลาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2(ส่วน A,B,C),ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+)ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)อีก 30 ปี แลกกับการยุติข้อพิพาทที่มีรวมมูลหนี้ฟ้องร้อง 1.37 แสนล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องกลับให้คณะกรรมการ กทพ.กลับไปพิจารณาให้รอบคอบ และการตัดสินใจเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ที่จะพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้เบื้องต้นยืนยันว่า คณะกรรมการ กทพ.ได้ดำเนินการตามมติ ครม.ที่ให้กทพ.หาทางเจรจากับ BEM ที่เป็นคู่พิพาทและผู้รับสัมปทาน โดยไม่ให้ชำระเป็นตัวเงิน โดยแนวทางการเจรจาเพื่อให้ BEM ยุติข้อพิพาทที่มีคำตัดสินแล้วและยังไม่ตัดสิน ซึ่งการเจรจาได้ลดมูลหนี้เหลือ 5.9 หมื่นล้านบาทเปลี่ยนเป็นขยายอายุสัมปทาน 15 ปี และ กทพ.ก็ยังคงได้ส่วนแบ่งรายได้สัดส่วน 60%
นอกจากนี้อีกส่วนที่ กทพ.จะให้มีการขยายโครงข่ายทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 โดยให้ BEM ดำเนินการรูปแบบ Dougle Deck ซึ่งไม่ต้องเวนคืนที่ดิน มูลค่าลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาทโดยส่วนนี้จะให้สัมปทาน 15 ปี แต่โครงการนี้ต้องผ่านกระบวนจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องขยายเวลาสัมปทาน ทั้งหมดเป็นที่มาของการขยายเวลาสัมปทาน 30 ปีให้กับ BEM
โดยคดีของ กทพ.เกิดขึ้นจากรัฐบาลก่อนหน้า แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ คดีที่รัฐสร้างทางแข่งขันกับเอกชนผู้รับสัมปทานซึ่งศาลได้ตัดสินออกมาว่า กทพ.แพ้คดี 4 พันล้านบาท รวมดอกเบี้ยแล้วเป็นกว่า 6 พันกว่าล้านบาท ซึ่ง กทพ.ได้ขอศาลให้เจรจาก่อน อีกส่วนเป็นคดีที่ไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นเรื่องเกิดขึ้นในอดีต และผลประโยชน์ได้เกิดขึ้นกับประชาชนแล้ว
สำหรับคดีขึ้นค่าผ่านทาง อนุญาโตตุลาการให้ กทพ.แพ้ และศาลตัดสินเพียงว่าคำตัดสินของอนุญญาโตตุลาการขัดกับกฎหมาย และขัดกับความสงบหรือไม่ ศาลไม่สามารถรื้อการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นที่จะหวังให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำตัดสินไม่ได้ หรือก้าวล่วงคำตัดสินอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นต้องเจรจาก่อนที่จะมีคำตัดสิน ไม่เช่นนั้นจะเป็นค่าโง่ 1.3. แสนล้านบาท
ทั้งนี้การตัดสินใจเป็นเรื่องของคณะกรรมการ กทพ.และรัฐบาลชุดใหม่จะเดินตามมติ ครม.หรือไม่ แต่ไม่อยากให้นำประชาชนมาเป็นตัวประกัน และมองว่าหาก กทพ.บริหารจัดการทางด่วนเองจะมีปัญหาอย่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เกิดหนี้สะสมจนต้องให้รัฐนำเงินมาอุดหนุนตามนโยบายประชานิยมต่าง ๆ
โดย กทพ.แม้จะมีเส้นทางกว่า 200 กิโลเมตร แต่ปัญหาปัจจุบันคือปริมาณรถยนต์ที่ใช้ทางด่วนจำนวนมากเต็มพื้นที่จนส่งผลกระทบต่อการจราจร ที่ผ่านมาไม่มีการก่อสร้างเส้นทางเพิ่ม ปัญหาต่อมาคือ เรื่องฝ่ายการเมือง เนื่องจากสัมปทานของบีอีเอ็มจะหมดลงเดือนก.พ.63 และรัฐไปสร้างทางแข่งขัน
นอกจากนี้ที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าผ่านทางยังไม่มีการปรับขึ้นตามที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลต่อองค์กร ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าทางด่วนมองว่าควรมีการปรับขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาบางรัฐบาลนำไปทำประชานิยม และหากในอนาคตมีการนำเงินภาษีของประชาชนอุดหนุนอีกอาจจะไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศและเป็นการเข้าสู่วังวนเดิม ส่วนกรณีที่ประชาชนมองว่าไม่ควรปรับขึ้นค่าผ่านทางนั้น มองว่าต่อไป กทพ.อาจกลายเป็นเหมือน ขสมก. รฟท. และการบินไทยที่ต้องให้รัฐนำเงินมาอุดหนุน