ปลัดเกษตรฯ-อธิบดีกรมชลฯ ยันพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้ถึงแล้งปีหน้า ไม่เกิดภัยแล้งรุนแรงเหมือนปี 58 ขอประชาชนอย่าตกใจ แต่เฝ้าระวังช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ฝนยังตกน้อย พื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ 21 จว. ระดมทุกหน่วยช่วยเหลือเร่งจัดหาแหล่งน้ำเติมน้ำอุปโภคบริโภค ด้านกรมฝนหลวงฯ ระบุเกษตรกรนอกเขตชลประทานทั่วประเทศร้องขอฝนหลวงช่วยเร่งด่วนก่อนนาข้าว อ้อย มันสำปะหลัง จะเสียหายเจอแล้งยาวนาน เมื่อวันที่ 12 ก.ค.62 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมแถลงถึงสถานการณ์ภัยแล้งและการเตรียมพร้อมรับมือฝนตกน้อย นายอนันต์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้จะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ยังได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเกิดภาวะฝนตกน้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆน้อยตามไปด้วย จำเป็นต้องวางแผนใช้น้ำอย่างระมัดระวังตั้งแต่ตอนนี้ “ระดมทุกหน่วยงานช่วยเหลือสร้างการรับรู้กับเกษตรกรและประชาชน เผญิชปัญหาฝนทิ้งช่วงและช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.แม้เริ่มมีฝนแต่ยังตกน้อยอยู่ ขอให้ใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการบริหารจัดการน้ำปีนี้ไว้รองรับฤดูแล้งปีหน้าด้วย ให้ทุกพื้นสร้างการรับรู้ วิเคาระห์ความเสี่ยงปลูกพืช หากภาวะบางจุดมีปัญหาให้นำน้ำจากพื้นที่อื่นใกล้เคียงไปช่วย ดังนั้นอย่าไปตกใจ ว่าเกิดภัยแล้งมาก อธิบดีกรมชลฯยืนยันว่าไม่แล้งหนักเหมือนปี 58 แต่ก็ย้ำใช้น้ำอย่างประหยัด”ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 13,093 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก-ชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม. ด้าน ดร.ทองเปลว กล่าวว่า พื้นที่ชลประทานไม่ขาดแคลนน้ำ แต่อาจมีปัญหาบางช่วงในปลายคลองเช่นพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ได้ลดการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และสูบน้ำจากแหล่งใกล้เคียง ส่วนนอกเขตชลประทาน ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เดือนส.ค.-ก.ย.ในพื้นที่ 21 จังหวัด 160 อำเภอ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ สุราษฏร์ธานี พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา พร้อมมีมาตรการให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง เช่นสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เพิ่มเติมแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปา ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ช่วยเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า รถบรรทุกน้ำ ประชุมกับการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำประปาในพื้นที่เสี่ยงมีสภาวะฝนตกน้อย ในพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ได้วางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าแล้วในการบริหารจัดการน้ำเตรียมการให้มีน้ำพอใช้ช่วงต้นฤดูแล้งต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งมีการสำรองน้ำในเขื่อนไว้ล่วงเผื่อฝนมาน้อย ได้ลดระบายน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ ลงแห่งละ 2 ล้านลบ.ม. พร้อมกับได้แจ้งผู้ว่าราชการ22จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาได้รับรู้ เพื่อบูรณาการจัดการน้ำอย่างเข้มข้น โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือทุกๆกรม ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ส่วนพื้นที่แก้มลิง 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ได้ปรับปฏิทินปลูกข้าวนาปีโดยปล่อยน้ำให้เพื่อปลูกก่อน 1 เดือนเริ่มลงมือปลูกเมื่อเดือนพ.ค. ยืนยันว่ามีน้ำให้เพียงพอ แต่หลังเก็บเกี่ยวขอความร่วมมือไม่ปลูกข้าวต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลฯอาจห้ามไม่ได้ เพราะเกษตรกรเห็นน้ำในคลองก็จะปลูก จึงใช้มาตรการจูงใจ ปรับเปลี่ยนนาปรังรอบ 2 มาปลูกข้าวโพดและพืชผัก ซึ่งปีที่ผ่านมาเกษตรกรปรับเปลี่ยนกว่า 7-8 แสนไร่ ได้ผลเชิงประจักษ์ เกษตรกรเปลี่ยนมาทำพืชหลังนา ปลูกข้าวโพดมีรายได้ดีกว่า ดังนั้นในฤดูแล้งนี้จะจูงใจเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกพืช-ผักในเป้าหมายพื้นที่ 2 ล้านไร่ และมีมาตรการเสริมจ้างแรงงานให้เกษตรกรที่เสียโอกาส ไม่ได้เพาะปลูกข้าว ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 58 ล้านไร่ นาปี และนาปรัง 11 ล้านไร่ ตามแผนข้าวครบวงจร อาจจะลดเหลือนาปรัง8ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วน รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ทำการสูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันที ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุดพร้อมมีมาตรการช่วยเหลือไว้แล้วพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ขณะที่ นายสุรสีห์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกร อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ร้องขอฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรเกือบทั่วประเทศ ให้เร่งทำฝนหลวงช่วยพื้นที่นาข้าว ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆใกล้เสียหาย จากเกิดปัญหาภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องแม้เข้าหน้าฝน ก็ยังมีปริมาณฝนตกน้อย เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ซึ่งเปิดปฏิบัติการฝนหลวงวันที่ 1 มี.ค. จนถึงสิ้นเดือนต.ค.โดยไม่มีวันหยุดราชการ และวันนักขัตฤกษ์ ได้ตั้งหน่วยฝนหลวง11หน่วยทุกภูมิภาค ดูแลพื้นที่การเกษตร 110 กว่าล้านไร่ เพาะปลูกอาศัยน้ำฝน พร้อมกันนี้ที่ผ่านมาปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ไม่น้อยกว่า60วัน ได้ดำเนินการทำฝนเต็มศักยภาพ ในปัจจุบันเกิดผลสำเร็จ89%ด้วยปัจจัยสภาพอากาศที่แม้ความชื้นสัมพัทธ์เพียง40-50%ไม่ถึง60%ก็ต้องตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการเพราะเกษตรกรร้องขอมามาก รวมทั้งในพื้นที่มีฝนธรรมชาติตกน้อยกว่า10มม.ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน เป็นพื้นที่ภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ มีปัญหาขาดแคลนนักบิน 71 อัตรา โดยเป็น กัปตัน 45 ผู้ช่วยนักบิน 26 ตำแหน่ง ได้ขออัตราเร่งด่วนอย่างน้อย 44 อัตรา ซี่งผ่านกระทรวงเสนอเข้ากพ. รวมทั้งต้องการนักวิทยาศาสตร์อีก 70-80 อัตรา ขอไปภายในปีนี้ จะเข้ากระบวนการสรรหา บรรจุแต่งตั้ง ไว้รองรับปีหน้า จะเปิดศูนย์ฝนหลวงเพิ่มจากปีนี้ 5 ศูนย์ เป็น 7 ศูนย์ เครื่องบินมีอยู่ 36 ลำ จะส่งเพิ่มปีหน้าอีก2ลำ ให้สอดรับกับอัตรานักบินด้วย ซึ่งปีนี้ทำฝนหลวงเต็มศักยภาพช่วง 8 เดือน โดยไม่ได้หยุดเพราะบุคคลากรจำกัด และด้วยสภาพอากาศแห้งแล้งมากยิ่งต้องขึ้นปฏิบัติการช่วยเกษตรกร