ยันไม่ต้องห่วงต่างชาติกระเป๋าหนักจะทำคนไทยกระเทือนไปด้วย ระบุมีกรอบกำหนดทั้งค่ารักษา ค่ายาในรพ.ทั้งรัฐและเอกชนแล้ว ส่วนเรื่องขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ รับที่ผ่านมามีสมองไหลบ้าง แต่ได้แก้ปัญหาเพิ่มการวิจัย อบรม แลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างรพ.รัฐ-เอกชน นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ก.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลระบุนโยบายเมดิคัล ทัวรริสซึม อาจส่งผลกระทบกับระบบบริการสุขภาพไทย ทำให้ค่ารักษาพยาบาลและยาของโรงพยาบาลเอกชนแพงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผู้ที่เข้ามารักษาตามแผนดังกล่าวส่วนใหญ่จะมีกำลังซื้อสูง ส่งผลให้อัตราค่ารักษาพยาบาลและค่ายาในประเทศหรือที่รักษาคนไทยก็ปรับตัวแพงตามไปด้วย อีกทั้ง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์พยาบาล เพราะโรงพยาบาลที่รักษาต่างชาติก็จะให้ค่าตอบแทนที่สูง นั้นว่า คุณภาพ มาตรฐานการรักษาพยาบาล และบริการทางการแพทย์ นั้นก.สาธารณสุขได้มีการควบคุมว่าต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพ โดยมีการควบคุม กำกับ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงความปลอดภัย กับผู้รับบริการทุกคนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติ ส่วนอัตราค่ารักษาพยาบาล ก.สาธารณสุขได้นำข้อร้องเรียนจากประชาชนมาปรับรูปแบบการเรียกเก็บค่าบริการจากเดิมที่แยกเก็บเป็นรายการให้เป็นไปในลักษณะเหมาจ่าย โดยสถานพยาบาลต้องแจ้งอัตราค่าบริการให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจทุกครั้ง และต้องไม่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมยกเว้นกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้รับบริการรับทราบก่อนทุกครั้ง ซึ่งสถานพยาบาลเอกชนก็ถือเป็นหนึ่งในสถานบริการสุขภาพที่ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยใน 3 กองทุนหลัก ทั้งกลุ่มข้าราชการ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท) และกองทุนประกันสังคม ทั้งนี้ การที่ต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาล หรือบริการ ทางการแพทย์ที่ประเทศไทยตามนโยบายเมดิคัล ทัวรริสซึม (Medical Tourism) นับเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยรัฐสามารถนำรายได้มาพัฒนาประเทศ อีกทั้ง เป็นการสร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ประชาชน แต่อาจจะมีผู้ที่กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อกลไกการตลาดทำให้อัตราค่ารักษาพยาบาลมีราคราสูงขึ้นนั้น “ขอชี้แจงในประเด็นที่สังคมเกิดความกังวลทั้ง 2 ประเด็น ดังนี้ 1.นโยบายเมดิคัล ทัวรริสซึม จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด ด้วยสถานพยาบาลภาครัฐมีกรอบควบคุมอัตราค่าบริการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว ส่วนสถานพยาบาลเอกชนก็มีกรมการค้าภายใน ก.พาณิชย์ ควบคุม โดยมีก.สาธารณสุขร่วมพิจารณา 2.ในส่วนที่กังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรสุขภาพในภาครัฐ ต้องยอมรับว่ามีการเคลื่อนย้ายบุคลากรจากภาครัฐไปภาคเอกชนบางส่วน ก.สาธารณสุขจึงได้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถจัดการศึกษา อบรม วิจัยในสถานพยาบาลของตนเองได้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร และเพิ่มการส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้" อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหา หรือผลกระทบที่แต่ละฝ่ายกังวลว่าจะเกิดในอนาคต กรม สบส.จะให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบและวางมาตรการรับมือจากนโยบายเมคัล ทัวร์ริสซึมอย่างใกล้ชิดต่อไป