กฟก.เดินหน้าเชิงรุกตรียมความพร้อมแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพโครงการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 ลูกหนี้ ธ.ก.ส.กว่า 1.8 หมื่นรายที่ประสงค์เข้าร่วม ชี้เกษตรกรต้องยื่นแผนอาชีพเพื่อสร้างเงินมาใช้หนี้ ย้ำพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้-ส่งเสริมการตลาด นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)เปิดเผยว่า สำหรับการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินงานภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน(ลูกหนี้ ธ.ก.ส.)ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 ต.ค.61 หนึ่งในหน้าที่สำคัญของ กฟก.คือ การดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถนำมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ภายใต้กำหนดเวลา อีกทั้งมีรายได้จากการประกอบอาชีพสร้างความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จากที่ กฟก.ได้ร่วมกับ ธกส.ดำเนินการสำรวจความประสงค์ของเกษตรพบว่า มีเกษตรกรได้แสดงความประสงค์เข้าร่วม 18,149 รายจากเกษตรกรสมาชิกที่มีสิทธิ์ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งสิ้น 36,605 ราย ซึ่งเกษตรกรในกลุ่มนี้เมื่อได้รับการอนุมัติปรับโครงสร้างหนี้ตามโครงการแล้ว ช่วงระหว่างการผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ เกษตรกรจะต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมกับ ธ.ก.ส. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนพัฒนาอาชีพ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง เพื่อให้เกษตรกรได้เลือกนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ตามที่ตนเองถนัด หรือเหมาะสม ขณะที่ส่วนด้านการตลาดนั้น ตามแผนงานโครงการฯ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประสานภาคเอกชนมารับซื้อผลผลิตและมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิต หรือหาตลาดรองรับผลผลิตให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ สำหรับขั้นตอนสำคัญตรงนี้คือ เกษตรกรสมาชิกต้องร่วมกับองค์กรเกษตรกรที่ตนเองสังกัดในพื้นที่ จัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพของตนเองซึ่งองค์กรเกษตรกรจะรวบรวม และเสนอต่อกฟก.พิจารณารับรองก่อนจากนั้นให้เจ้าหนี้ประกอบการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร สำหรับเรื่องนี้ กฟก.ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดได้เร่งจัดเตรียมแผนดำเนินการต่าง ๆเช่น แผนการอบรมผู้นำองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร และการสนับสนุนแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรด้วยการพิจารณาแผนและโครงการจ่ายเงิน การ ใช้เงินคืนกองทุน และการติดตามประเมินผล เป็นต้น “จากการเตรียมการทำงานในเชิงรุกของ กฟก.จะช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาให้เกษตรกรสมาชิกทั้ง 18,149 ราย ได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาที่กำหนด และตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”