โรคตุ่มน้ำพองที่ทำให้ดาราดัง วินัย ไกรบุตร จากหนุ่มล่ำแข็งแรงกล้ามแน่นกลับป่วยจนสร้างความทุกข์ทรมานให้อย่างมาก ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ รศ.พญ.ปภาพิต ตู้จินดา รศ.พญ.ลีนา จุฬาโรจน์มนตรี ภาควิชาตจวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ระบุถึงโรคนี้ว่า เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เกิดการสร้างสารโปรตีนกลุ่มอิมมูโนโกลบูลินไปทำลายการยึดเกาะกันของเซลล์ผิวหนัง จึงเกิดการแยกตัวของผิวหนัง ในชั้นหนังกำพร้า หรือบริเวณรอยต่อระหว่างหนังกำพร้าและหนังแท้ ทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในปาก เป็นต้น ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ คือ โรคเพ็มฟิกัส (Pemphigus) เพ็มฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) ขณะอาการและอาการแสดงของโรคกลุ่มนี้บางชนิดพบในวัยเด็ก บางชนิดพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย อาการคือ  มีตุ่มน้ำพองขนาดต่าง ๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนัง บางรายอาจเกิดที่เยื่อบุต่าง ๆ ร่วมด้วย เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผล หรือรอยถลอก ทำให้มีอาการเจ็บ ถ้าเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปากจะทำให้เจ็บแสบ กลืนอาหารไม่สะดวก บางรายผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนอง ถ้าเป็นรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีไข้ หรืออาการอื่น ๆ ได้ สาเหตุ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร่วมกับมีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น เชื้อโรคหรือสารเคมีเป็นปัจจัยกระตุ้น อย่างไรก็ตาม โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกันไม่ใช่โรคติดต่อ การรักษา โรคตุ่มน้ำพองชนิดเพ็มฟิกัสและเพ็มฟิกอยด์ มียาหลักที่ใช้รักษา คือ ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ซึ่งจะเริ่มยาด้วยขนาดสูงก่อน เมื่อควบคุมโรคได้แล้วจึงค่อยลดยาลง การปรับขนาดยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงระหว่างรับประทานยา ต้องรีบปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อพิจารณาปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่น ซึ่งยากลุ่มอื่น ๆ ที่ใช้ ได้แก่ dapsone ยากดภูมิคุ้มกัน (cytotoxic drugs)  ระยะเวลาที่จะสามารถคุมโรคได้อาจใช้เวลาเป็นเดือน เมื่อควบคุมโรคได้ผู้ป่วยอาจต้องกินยาต่อไปอีกระยะหนึ่ง แพทย์จำเป็นผู้แนะนำว่าเมื่อใดควรลดหรือหยุดยา การหยุดยาอย่างกะทันหันอาจทำให้โรคกำเริบได้  สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ด้วยโรคในกลุ่มนี้มีความรุนแรงต่างกัน โรคกลุ่มนี้เป็นโรคเรื้อรังอาการของโรคอาจกำเริบและสงบสลับกันไป ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรมารับการตรวจรักษาโดยสม่ำเสมอและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะได้รับยาที่กดระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตัว ดังนี้ - หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปสถานที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ             - ถ้ามีอาการที่บ่งถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ไอ ปัสสาวะแสบขัด ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว             - ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือไม่สะอาด             - ถ้าโรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่รับประทานเพื่อควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ถึงแม้ว่าโรคสงบแล้ว ถ้าจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ เพราะแพทย์อาจจะยังให้ยาบางชนิดเพื่อควบคุมโรคไม่ให้กำเริบ ซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน             - ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพรดนิโซโลน ถ้ามีอาการปวดท้อง อุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์             - ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ             - ดื่มนมสด หรือ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนจากยา ส่วนผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำแตกเป็นแผลในปากควรปฏิบัติ ดังนี้            - ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) อมกลั้ว บ้วนปากบ่อย ๆ หรือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือยาฆ่าเชื้อในช่องปากที่เข้มข้น             - หลีกเลี่ยงการแปรงฟันแรง ๆ เนื่องจากจะทำให้แผลถลอกมากขึ้น             - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ดหรือเปรี้ยว จะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น นอกจากนี้ สำหรับผื่นที่ผิวหนัง ควรปฏิบัติ ดังนี้             - หลีกเลี่ยง การประคบหรือพอกแผลด้วยสมุนไพร หรือยาใด ที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้สั่ง             - ถ้าต้องการทำความสะอาดแผล ควรใช้น้ำเกลือ (Normal saline) เช็ดเบา ๆ อาจใช้ยาทา เช่น ยาครีมฆ่าเชื้อ ไม่ควรเปิดแผลบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังหลุดถลอก