กรรมการบริหารพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
เผยยกร่างกฎหมายใหม่ ควบกิจการไนท์ซาฟารีกับองค์การสวนสัตว์ ชี้รัฐไม่เสียผลประโยชน์ ควบคุมดูแลได้ เร่งให้เสร็จเร็วที่สุด ส่วนเจ้าหน้าที่-พนักงาน-ลูกจ้าง-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาหารสัตว์ อยู่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ นายอนุชา ดำรงมณี กรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เผยความคืบหน้าการควบรวม กิจการไนท์ซาฟารีกับองค์การสวนสัตว์ ตามมติคณะรัฐมนตรี ว่า ได้มีการร่างกฏหมายฉบับใหม่ เพื่อควบรวมกิจการไนท์ซาฟารีกับองค์การสวนสัตว์ เนื่องจากกฏหมายเดิม ไม่สามารถควบรวมกิจการได้ เพราะไนท์ซาฟารีเป็นองค์การมหาชน ส่วนองค์การสวนสัตว์เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นกฎหมายคนละฉบับซึ่งกฎหมายฉบับใหม่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ เป็นเรื่องกฏเกณฑ์ ทางไนท์ซาฟารีต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
“การควบรวมกิจการดังกล่าว ต้องร่างกฏหมายใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่การปรับปรุงหรือแก้ไขกฏหมายเดิม ซึ่งต้องมีระเบียบกฏเกณฑ์การบริหารงานที่ชัดเจน ได้ไปประชุมมาแล้ว 5 ครั้ง และไปต้องไปประชุมครั้งที่ 6 ในวันพรุ่งนี้ (12 กรกฏาคม) เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งการร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐไม่เสียผลประโยชน์ สามารถควบคุมดูแลได้ และทำให้เร็วที่สุด ก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ” นายอนุชา กล่าว
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างไนท์ซาฟรี กว่า 300 คน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาหารสัตว์ของ 4 ตำบล คือ ต.สุเทพ ต.แม่เหียะ อ.เมือง ต.หนองควาย ต.บ้านปง อ.หางดง ที่มีสมาชิกกว่า 500 ราย ที่เป็นพันธสัญญากับไนท์ซาฟารี ยังคงเหมือนเดิม เป็นไปตามปกติ เพราะนโยบานรัฐไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องทำให้ถูกกฏหมาย ส่วนสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ได้มีมติครม.และพระราชกฤษฏีกาให้ยกเลิกองค์การดังกล่าว
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 หรือ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรบริหารให้ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฏหมายเท่านั้น
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ไนท์ซาฟารี มีสัตว์ป่าและสัตว์อนุรักษ์จำนวนมาก ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว 1 ใน 2 แห่งของเอเซ่ีย คือ ไทยกับสิงคโปร์เท่านั้น แต่พื้นที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีใหญ่กว่าสิงคโปร์ 4 เท่าตัว สิงคโปร์มีสัตว์ 200 ตัวแต่ของเรามีสัตว์กว่า 1,200 ตัว ซึ่งต้องบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องรอการประกาศใช้กฏหมายฉบับใหม่ เชื่อว่าการบริหารจัดการไม่มีสะดุดเพราะต้องทำให้ดีกว่าเดิม และส่งมอบกิจการไนท์ซาฟารีให้องค์การสวนสัตว์
แบบพร้อมที่สุด ส่วนการดูแลสัตว์ทางไนท์ซาฟารีเป็นสมาชิกของพาต้า และซีซ่าร์ ที่เป็นองค์กรระดับนานาชาติ มีมาตรฐานการดูแลสัตว์แบบสากล มีการตรวจสอบ และติดตามกิจการสวนสัตว์ทั่วโลกตลอดเวลา
ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวไนท์ซาฟารี ตั้งแต่กรกฎาคม ยาวจนถึงตุลาคมนี้ นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา แต่มิถุนายน ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวลดน้อยลงไปกว่า 30 % ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 2,000 คน ซึ่งไนท์ซาฟารีต้องยกระดับมาตรฐานเป็นเวิลด์คลาส หรือระดับโลกให้ได้ พร้อมสร้างงาน และรายได้ให้แก่ชุมชนรอบข้างให้มากขึ้น ช่วงครึ่งปีแรก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 % ภาพรวมปีแล้ว มีนักท่องเที่ยว 600,000 คน ทำรายได้ 230 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกที่ทำรายได้เกิน 200 ล้านบาท ปีนี้ต้องเป้าเพิ่มรายได้เป็น 250 ล้านบาท


