เกษตรฯ ฟุ้ง "กฤษฏาโมเดล" การตลาดนำการผลิต แก้ไข่ไก่ล้นตลาดเป็นผลสำเร็จ ส่งผลราคาหน้าฟาร์มสูงกว่าต้นทุนการผลิต ดันราคาไข่ ยุคลุงตู่ ขยับขึ้นแตะฟองละ 2.83 บาท เมื่อวันที่ 11 ก.ค.62 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงทิศทางราคาไข่ไก่ว่า จากผลผลิตไข่ไก่ที่เกินความต้องการบริโภคในปี 2561 และภาครัฐได้ดำเนินการมาตรการปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯโดยบูรณาการทุกภาคส่วนดึงความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการปรับลดการนำเข้าพ่อ-แม่ ปู่-ย่าพันธุ์ และส่งออกไข่ไก่ส่วนเกินไปจำหน่ายยังต่างประเทศ พร้อมทั้งปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงเพื่อให้ปริมาณไก่ไข่ยืนกรงในระบบอยู่ในภาวะสมดุล ส่งผลให้สถานการณ์ราคาไข่ไก่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นสูงกว่าต้นทุนการผลิต โดยราคาไข่ไก่คละปรับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ราคาเฉลี่ยฟองละ 2.64 เดือนพฤษภาคม ราคาฟองละ 2.74 บาท และ มิถุนายน ราคาฟองละ 2.80 บาท และสัปดาห์แรกเดือนกรกฎาคม 2562 เฉลี่ยที่ฟองละ 2.83 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.62 บาท สำหรับผลผลิตปี 2562 กรมปศุสัตว์คาดว่า จะมีปริมาณผลผลิตไข่ไก่ 14,810 ล้านฟอง ลดลงจากปี 2561 ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ด้วยการปรับสมดุลการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการในการบริโภคภายในประเทศ โดยมีมติให้ปรับลดแผนการนำเข้าในปี 2562 ของปู่-ย่าพันธุ์ (G.P.) ให้เหลือจำนวน 3,800 ตัว และปรับลดการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ (P.S.) เหลือจำนวน 460,000 ตัว พร้อมลดจำนวนแม่ไก่ไข่ยืนกรงให้อยู่ประมาณ 50 ล้านตัวต่อวัน หรือประมาณ 40 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงอายุไม่เกิน78 สัปดาห์ เพื่อรักษาสมดุลผลผลิตในระบบ และเร่งรณรงค์เพิ่มการบริโภคไข่ไก่ให้ได้ตามเป้าหมาย 300 ฟอง/คน/ปี นอกจากนี้ ยังผลักดันการส่งออกไข่ไก่เพื่อลดปริมาณผลผลิตส่วนเกิน โดยในช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม 2562 สามารถรวบรวมไข่ไก่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ปริมาณ 167.65 ล้านฟอง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 65.64 อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะยังคงดำเนินมาตรการต่อเนื่องเพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพโดยแนวโน้มราคาอาจจะขยับขึ้นได้อีก หากสามารถบริหารจัดการปริมาณนำเข้า พ่อ-แม่ ปู่-ย่าพันธุ์ ให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ผู้เลี้ยงควบคุมปริมาณการเลี้ยงให้เหมาะสม ปลดไก่ตามอายุที่กำหนด ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเพิ่มอัตราการบริโภคไข่ไก่ให้สูงขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ผลิตเชื่อมโยงกับผู้ซื้อโดยตรง โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการบริโภคมีความสมดุล ก็จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาราคาผลผลิตไข่ไก่ตกต่ำอีก ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายตลอดห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจไก่ไข่อย่างยั่งยืนตลอดไป