ส่งออกปีนี้น้อยกว่า 3% แน่นอน “ซิตี้แบงก์”หั่นจีดีพีปี 62เหลือแค่ 3.3% จากเดิม 3.8% จี้รัฐเร่งผลักดันโครงการลงทุนหนุนเศรษฐกิจระยะยาว น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกไทยชะลอตัวและกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ดังนั้นจึงทำให้ธนาคารปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) เหลือเติบโต 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.8% โดยภาคการส่งออกไทยเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากที่สุด โดยคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้น้อยกว่า 3% ทั้งนี้การท่องเที่ยวไทยแม้ว่ายังสามารถขยายตัวได้ แต่มีแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เปลี่ยนจากการเดินทางท่องเที่ยวไทยไปยังเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่นแทน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่บ้าง "แม้ราคาพืชผลทางการเกษตรบางรายการจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การกระจายรายได้ไปยังครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ทั่วถึง เพราะในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนต่างๆของภาครัฐยังไม่ออกมา ทำให้มีเม็ดเงินกระจายไปยังภาคครัวเรือนได้น้อย ส่งผลกระทบต่อการบริโภคที่ยังชะลอตัว" ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว เนื่องจากไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจและความผันผวนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันประกอบกับรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว แต่ทั้งนี้ต้องติดตามว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้วจะมีการผลักดันโครงการลงทุนต่างๆออกอย่างไร ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารมองว่า รัฐบาลควรเร่งผลักดันการลงทุนโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวออกมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน และทำให้เกิดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะมีเม็ดเงินกระจายออกไป ช่วยภาพรวมของเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ค่าเงินบาทในปัจจุบันที่แข็งค่าไปค่อนข้างมากโดยหลุดระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯไปนั้น มองว่าเป็นผลมาจากการไหลเข้าของกระแสเงินทุนที่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย หลังจากที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนก.ค.นี้ นอกจากนี้ประกอบกับประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจนำเงินเข้ามาพักไว้ เพราะถือว่าเป็น Safe Heaven เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ค่าเงินบาทไม่มีความผันผวนมากและมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลสูงในะดับ 6% ของ GDP ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากในช่วงนี้ ทั้งนี้ธนาคารประเมินว่าค่าเงินบาทในปีนี้จะเคลื่อนไหวในช่วง 31.20-31.50 บาท9jvดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองว่าการจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงนั้น ภาครัฐควรเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณออกมาผ่านการผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดการเกินดุลลง "แม้ว่าอาจจะมีการเลื่อนการใช้งบประมาณปี 63 ออกไป แต่ยังมีงบประมาณของปี 2562 ที่ยังใช้ไม่หมดอยู่อีกประมาณ 3 แสนล้านบาทที่สามารถนำมาใช้รองรับการเบิกจ่ายการลงทุนต่างๆของรัฐได้" นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า คาดการณ์อัตราเติบโตของผลกำไรต่อหุ้นทั่วโลกในปี 2562 จะอยู่ที่ 4.0% ต่ำกว่าระดับประมาณการเดิมเล็กน้อย สำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้จึงแนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายชนิด โดยเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงเช่น กลุ่มตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯ ที่จัดอยู่ในระดับน่าลงทุน(US Investment Grade) นอกจากนี้ควรพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมแบบผสม(Multi-Asset Fund) และกองทุนรวมทางเลือก (Alternative Mutual Fund) เพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงที่มีภาวะความผันผวนที่สูงขึ้นในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงที่ยังเติบโตแต่โตน้อยลงเช่นนี้ มีมุมมองเป็นบวกต่อ 4 กลุ่มหุ้นวัฐจักรได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มวัสดุการผลิต กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยี ที่ได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ หรือคอมโมดิตี้ ยังทำผลงานได้เป็นที่น่าจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำมัน และน้ำมันดิบที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบารร์เรล และมีแนวโน้มทะลุ 78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนทองคำยังเป็นที่ต้องการของตลาด และมีกรอบมูลค่าราว 1,300 – 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้การลงทุนปี 2562 ยังคงมีความท้าทายสูง โดยนักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ความไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐฯ ตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือ ข้อตกลง เบร็กซิท การเลือกตั้งในภูมิภาค และนโยบายงบการคลังของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้อัตราการลงทุนทั่ว โลกมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.62 ที่ตลาดมีความเคลื่อนไหวน้อยที่สุดในรอบปี นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคาร ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย มีพันธมิตรกองทุนชั้นนำทั้งใน และต่างประเทศรวมกว่า 17 แห่ง อาทิ AllianceBernstein Allianz Global Investors Schroders UBS Asset Management ฯลฯ ครอบคลุมหลากหลายรูปแบบการลงทุน ตอบโจทย์ทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ อาทิ กองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในเทรนด์ตลาดน่าสนใจ อย่างกองทุนรวมเทคโนโลยี กองทุนตราสารรายได้คงที่ศักยภาพสูง ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกกองทุน ช่วยบาลานซ์พอร์ต และรักษาผลตอบแทนการลงทุนสำหรับลูกค้า ท่ามกลางภาวะตลาดที่มีความท้าทายสูง นอกจากนี้ธนาคารยังเตรียมพัฒนาบริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง เพื่อประสบการณ์การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า อาทิ ออนไลน์ฟีเจอร์ ให้ลูกค้าสามารถยืนยันการทำธุรกรรมการลงทุน ผ่านซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชัน รวมถึงสิทธิประโยชน์อย่าง ซิตี้ โกลบอล วอลเลท ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็ว คุ้มค่า และเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำธุรกรรมการเงินต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศได้ 8 สกุลเงินได้ทันทีผ่านฟีเจอร์บนแอปพลิเคชั่นของทางธนาคาร แลกเปลี่ยนเงินระหว่างบัญชีแบบเรียลไทม์ในเรทแลกเปลี่ยนสุดคุ้ม สามารถโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารซิตี้แบงก์ทั่วโลกโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม สามารถใช้เงินในสกุลที่เปิดไว้โดยไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม เมื่อทำการใช้จ่ายผ่านบัตรซิตี้โกลด์ เดบิต มาสเตอร์การ์ดในต่างประเทศ โดยระบบจะจับคู่สกุลเงิน ณ ประเทศนั้นๆแล้วตัดยอดใช้จ่ายจากบัญชีออมทรัพย์สกุลเงินดังกล่าวที่ลูกค้าแลกเปลี่ยนเงินไว้โดยอัตโนมัติ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ได้อย่างลงตัว ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้านการลงทุน ธนาคารยังออกฟีเจอร์เพิ่มเพื่อให้มอบบริการที่รวดเร็ว ลดขั้นตอนการดำเนินเอกสารให้แก่ลูกค้า ด้วย Authorization corner หรือเอกสารการทำธุรกรรม ฟีเจอร์ใหม่ในซิตี้ โมบายล์ แอปฯ และซิตี้แบงก์ออนไลน์ที่ให้ลูกค้าสามารถยืนยันรายการซื้อขายกองทุนและตราสารหนี้ได้ง่ายๆ สะดวก รวดเร็ว ซึ่งผู้ดูแลบัญชีสามารถส่งรายการซื้อขายนั้นๆไปให้ลูกค้ายืนยันคำสั่งการลงทุนด้ว OTP ผ่านเมนูในแอปฯ โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สาขา เพื่อเซ็นเอกสารและให้ลูกค้ามีช่วงเวลาทำรายการที่นานขึ้นก่อน cutoff time สำหรับบางกองทุนที่อาจจะมี cutoff time ค่อนข้างเร็ว