ราวกับการเติมฟืนไฟให้ร้อนโชนไปทั่วโซนตะวันออกกลาง แม้กระทั่งน่านน้ำรอบภูมิภาคดังกล่ววกันอีกคำรบ สำหรับ ถ้อยแถลงของ “พล.อ.โจเซฟ ดันฟอร์ด” นายทหารเหล่านาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา ที่มารับบทบาท “ประธานเสนาธิการร่วม” แห่งกองทัพเมืองลุงแซม ที่เปิดเผยถึงแผนยุทธศาตร์ทางการทหารด้านภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อวันก่อน พล.อ.โจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานเสนาธิการร่วมแห่งกองทัพสหรัฐฯ โดย “ประธานเสนาธิการร่วม” แห่งกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า ทางการวอชิงตัน ต้องการให้บรรดานานาประเทศ จับไม้ ร่วมมือในทางทหารกับสหรัฐฯ มากขึ้น สำหรับ การจัดตั้งเป็น พันธมิตรกองทัพนานาชาติ เพื่อการดูแลรักษาความปลอดภัย และความมั่นคง ในพื้นที่น่านน้ำนอกชายฝั่งของ “อิหร่าน” และ “เยเมน” ซึ่งที่ “เยเมน” ก็ปรากฏว่า อิทธิพลของอิหร่านเข้าไปปกคลุมผ่านพวกกบฏ “ฮูธี” หรือ “ฮูษี” อันเป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์ด้วยกัน กลุ่มกบฏฮูธี หรือฮูษี ในเยเมน ซึ่งเป็นมุสลิม นิกายชีอะฮ์ ที่อิหร่านให้ความสนับสนุน พร้อมระบุถึงอาณาบริเวณน่านน้ำเอาไว้อย่างเสร็จสรรพ ได้แก่ “ช่องแคบฮอร์มุซ” ของ “อิหร่าน” และ “บับอัล-มันเดบ” ช่องแคบที่อยู่ใต้สุดของ “ทะเลแดง” ต่อเนื่องอ่าวเอเดน ซึ่งอยู่ระหว่าง “ประเทศเยเมน” ในภูมิภาคตะวันออกลาง กับ “ประเทศจิบูตี” ในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ นายพลผู้เติบโตมาจากเหล่า “น.ย.คอหนัง” นาวิกโยธินสหรัฐฯ ยังเปิดเผยถึงเหตุผลของสถาปนาพันธมิตรกองทัพนานาชาติข้างต้นด้วยว่า เพื่อสร้างความมั่นใจ เชื่อมั่นใจ ในเรื่องการเดินเรือย่านน่านน้ำดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างเสรี และมีความปลอดภัย ซึ่งน่านน้ำแห่งนี้ ก็ถือเป็นเส้นทางเดินเรือทางการค้าที่สำคัญที่สุดเส้นหนึ่ง ประธานเสธ.ร่วมแห่งกองทัพมะกัน ยังเปิดเผยด้วยว่า ทางการสหรัฐฯ ได้คุยกับเหล่าชาติพันธมิตรจำนวนหนึ่ง ที่มีเจตจำนงทางการเมือง มุ่งมั่นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ ถึงความร่วมมือทางการทหารข้างต้นไปบ้างแล้ว ซึ่งก็ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับ คือ สนับสนุนในโปรเจ็กต์ โครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี รายงานข่าวเผยว่า เหตุปัจจัยตามหน้าเสื่อที่ทำให้สหรัฐฯ จัดตั้งพันธมิตรความร่วมมือทางการทหารนานาชาติ เพื่อมาดูแลในน่านนั้ำดังกล่าว มีขึ้นภายหลังจากเกิดกรณีโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันและปิโตรเคมีภัณฑ์ของต่างชาติในน่านน้ำแห่งนั้นในระหว่างช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย.ที่ผ่านมา จนสร้างความหวั่นวิตกด้านการเดินเรือแก่ประเทศต่างๆ กันไปทั่ว ซึ่งตามข้อกล่าวหาที่มหาอำนาจแห่งโลกตะวันตกชี้กล่าวโทษ ก็ระบุว่า เป็นฝีไม้ลายมือของอิหร่าน ในปฏิบัติการโจมตีที่มีขึ้น เพื่อตอบโต้จากกรณีวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านครั้งล่าสุด การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันที่อ่าวโอมาน ซึ่งระบุว่า อิหร่านอยู่เบื้องหลังกับการโจมตีดังกล่าว อย่างไรก็ดี ตามการวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ของอีกซีกโลก อย่าง “รัสเซีย” เป็นอาทิ ก็มีทรรศนะว่า น่าจะเป็น “แท็กติก” หรือ “กลยุทธ์” ใหม่ของทางการสหรัฐฯ ที่จะใช้ยุทธวิธี “เอาต์ซอร์ซทางทหาร (Outsource Military)” จากเหล่าพันธมิตรนานาชาติ ในการไล่ล่าจัดการ “เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่าน” พร้อมยกตัวอย่าง กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและศุลกากรของอังกฤษ ที่ประจำการอยู่ในย่าน “ยิบรอลตาร์” ซึ่งเป็นเขตของสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ในประเทศสเปน จับยึด “เกรซวัน (Grace 1)” เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่าน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทางการอังกฤษอ้างเหตุผลถึงการยึดเรือลำนี้ว่า เพราะเรือลำดังกล่าว กำลังลำเลียงน้ำมันไปยังโรงกลั่น “บานิยาส” ในประเทศซีเรีย อันถือว่า ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป แต่ทางการอิหร่าน ออกมาแก้ต่างว่า “เกรซวัน” มิได้มุ่งหน้าไปส่งน้ำมันที่ซีเรีย และในเมืองที่ทางการอังกฤษ กล่าวอ้างนั้น ก็ไม่มีท่าเทียบเรือที่มีขนาดใหญ่รองรับเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่เช่นนั้นได้ เรือตำรวจของอังกฤษ ขณะเข้าจับกุมเรือบรรทุกน้ำมัน “เกรซวัน” ของอิหร่าน ที่ช่องแคบยิบรอลตาร์ ทั้งนี้ ปฏิบัติการจับยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านข้างต้น เหล่านักวิเคราะห์ทางฟากพญาหมีระบุว่า ไม่ผิดอะไรกับการที่สหรัฐฯ ใช้ “บริการจากหน่วยงานนอก” หรือ “เอาต์ซอร์ซ” คือ อังกฤษ มาจัดการกับอิหร่าน ซึ่งแผนการจัดตั้งเหล่ากองทัพพันธมิตรจากนานาชาติที่สหรัฐฯ หยิบยกขึ้นมานี้ก็เช่นกัน หวังใช้กองทัพจากชาติอื่นๆ นอกเหนือของสหรัฐฯ มาเล่นงานอิหร่าน นอกจากนี้ เหล่านักวิเคราะห์ ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า สหัฐฯ ยังอาจใช้ประโยชน์จากเหล่าทัพชาติพันธมิตรในน่านน้ำแห่งนั้น มาสกัดอิทธิพลทางการทหารทั้งของรัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังแผ่บารมีเข้ามา ในภูมิภาคน่านน้ำดังกล่าวด้วยเหมือนกัน เช่น การที่จีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งฐานทัพนอกชายฝั่งโพ้นทะเล เป็นแห่งแรกใน “จิบูตี” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นประเทศหน้าด่านทั้งทะเลแดงและอ่าวเอเดน ที่สหรัฐฯ เองก็มีความวิตก สำหรับอิทธิพลจีนที่แผ่เข้ามา ไม่ผิดอะไรกับพญามังกรสยายกรงเล็บ