สรรหามาเล่าสัปดาห์นี้เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง “แม่ซื้อแต่ละวันประจำวันเด็กเกิด” คัดจาก รฦก, วัฒนรักษ์
ความเชื่อเรื่อง “แม่ซื้อ” ล้วนเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทยในอดีต ที่ได้จรรโลงสร้างสรรค์เป็นมรดกของชาติให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง แม้บางท่านอาจจะรู้สึกว่าดูไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย แต่ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ทางวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะทำความเข้าใจ และร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่คู่กับบ้านเมืองสืบไป
ตามหลักฐานที่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์ระบุว่า แม่ซื้อมีอยู่ประจำวันทั้ง 7 โดยอธิบายรูปลักษณ์และที่สถิต ว่าอยู่ในเมืองบน (เมืองสวรรค์) เมืองล่าง (เมืองดินหรือพื้นโลก) และกลางหน (กลางทาง) เมื่อประมวลกับคัมภีร์ปฐมจินดา ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในกลุ่มตำราแพทย์แผนไทย กล่าวถึงแม่ซื้อความตอนหนึ่งว่า
“...หากนำรกของเด็กทารกไปฝังไว้ยังที่อยู่ของแม่ซื้อ จะทำให้แม่ซื้อรักใคร่เอ็นดู ปกปักรักษา เล่นหยอกล้อด้วย หากไม่เช่นนั้น แม่ซื้อก็จะหลอกหลอนให้เด็กตกใจ ร้องไห้ โยเย เจ็บไข้บ่อยๆ ...”
แม่ซื้อทั้งเจ็ดนี้มีนาม รูปร่างลักษณะ และที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน ธรรมเนียมนิยมการเขียนภาพแม่ซื้อแต่โบราณนั้น หากจะเขียนลงในผ้าขาวจะต้องเขียนด้วยยางมะเดื่อและต้องระบายสี ให้ถูกกับลักษณะรูปร่างหน้าตาตามสีอาภรณ์ ซึ่งจะเป็นสีทองทั้งหมด โดยที่สีกายของแม่ซื้อประจำวันก็แตกต่างไป จะมีรายละเอียดของแม่ซื้อทั้งเจ็ด ดังนี้
แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันอาทิตย์ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง ถิ่นอาศัยอยู่บนจอมปลวก
แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณนงคราญ” บางตำราว่า ชื่อ นางมัณพนานงคราญ มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล ถิ่นอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำ
แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันอังคาร ชื่อว่า “ยักษบริสุทธิ์” มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย)" ผิวกายสีชมพู ถิ่นอาศัยอยู่ที่ศาลเทพารักษ์
แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันพุธชื่อว่า “สามลทัศ” (...ทรรศ) บางตำราว่าชื่อ นางสมุทชาต มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว ถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ
แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน ถิ่นอาศัยอยู่ที่สระน้ำหรือบ่อน้ำใหญ่
แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันศุกร์ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน ถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นไทรใหญ่
แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันเสาร์ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง ถิ่นอาศัยอยู่ที่ศาลพระภูมิ
เป็นที่น่าสังเกตว่าการอธิบายรูปลักษณ์ของแม่ซื้อแต่ละนามนัยนี้ มีความคล้ายคลึงกับเรื่องกำเนิดละรูปลักษณ์ของ “เทวดานพเคราะห์” ในคติไทย จะได้นำมาเล่าในคราวถัดไป
เครดิตภาพ:www.watpho.com