เทศกาล: สวยจัง ทิวทัศน์ภูเขาตอนค่ำของงานเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมอำเภอห้วยยอด จ.ตรัง เมื่อมองไปในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนมีงานศิลปะสอดแทรกอยู่มาช้านาน อย่างมีคุณค่าความสำคัญในอัตตลักษณ์ของชุมชน มีการพัฒนา ต่อยอดสร้างสรรค์งานเผยแพร่ ขณะที่เทศกาลศิลปะต่างๆ มีส่วนเชื่อมโยงขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจและท่องเที่ยวชุมชน ให้แพร่หลายกลายเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงในระดับประเทศและนานาชาติ ด้านหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องศิลปะเช่นสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) มีโครงการสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยระดับชุมชน วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสศร. กล่าวสำหรับการแนวทางในการสนับสนุนโครงการศิลปะร่วมสมัยระดับชุมชนว่า หลายแห่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว เราเพียงเข้าไปให้การสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไป โดยระวังไม่ให้ทำลายคุณค่าเดิมของสิ่งที่มีอยู่ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ดังเช่นโครงการเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมณ ศูนย์ศิลปะวิถี จังหวัดตรัง เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก “เรายังมีโครงการประติมากรรมหุ่นฟางร่วมสมัย “ขัวแตะคนยอง”บ้านป่าตาล จ.เชียงใหม่ และโครงการเทศกาลศิลปะร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง 4 จังหวัด นครพนม หนองคาย มุกดาหาร และบึงกาฬ ได้ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการและทักษะฝีมือด้านวิชาชีพต่างๆ เพื่อให้ศิลปินและเครือข่าย ตลอดจนองค์กรชุมชนได้มีพื้นที่จัดแสดง และจำหน่ายผลงาน เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นำรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น” วิมลลักษณ์ ผอ.สศร. กล่าวศิลปร่วมสมัยชุมชน สัมฤทธิ์ เพชรคง เลขานุการสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทย เล่าโครงการเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ศูนย์ศิลปะวิถี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ว่า เทศกาลฯ นี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยถือฤกษ์วันไหว้ครูมโนราห์ ทุกวันพฤหัสบดีแรกของเดือนหกไทย เป็นวันเริ่มต้นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น ด้วยการอนุรักษ์พิธีแบบโบราณเพื่อสืบทอดวัฒนธรรม และนำเอาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น “เราเน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ทำให้เกิดตลาดนัดชุมชน “ตลาดวิถี ชาวปากแจ่ม” จัดขึ้นต่อเนื่องจากเทศกาล ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าไปถึงสองทุ่ม ลานดอกโดน ปัจจุบันได้รับความสนใจจากศิลปินและนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยว และศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งในด้านวิถีชีวิต การทำขนม อาหารพื้นบ้าน และชมนิทรรศการผลงานศิลปะในเทศกาลดังกล่าวอีกด้วย” สัมฤทธิ์ ขยายภาพให้เห็น โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้น นำเอาศิลปะร่วมสมัยผสมผสานกับทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน มาพัฒนาให้เกิดศักยภาพทั้งด้านทรัพยากร ศิลปิน เครือข่าย ฯ ท้องถิ่น มาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ชุมชน ด้วยงานศิลปะชุมชนอย่างยั่งยืน