ผลจากการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ภายใต้ "โครงการไทยนิยมยั่งยืน 2561" ได้ทำให้หลายสหกรณ์ทั่วประเทศยกระดับการทำธุรกิจ และ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในการดำเนินนโยบายดังกล่าวเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบโครงการ ไทยนิยมยั่งยืน ปี 2561 ให้กับสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้ทำธุรกิจรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ105 และแปรรูปเป็นข้าวสารคุณภาพดีเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นสมาชิกสหกรณ์ประมาณ 8,900 คน โดยสมาชิก 80% ขายข้าวเปลือกให้กับสหกรณ์ และจากกระบวนการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากสหกรณ์การเกษตรแห่งนี้ ได้รับการตอบรับทั่วประเทศ และจำเป็นต้องมีการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับผลผลิตของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สหกรณ์จึงได้เสนอโครงการขอการสนับสนุนงบไทยนิยมยั่งยืนเพื่อปรับปรุงศักยภาพในการแปรรูป ขณะนี้การก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จมีกำลังการผลิต ข้าวสารหอมมะลิจาก 30,000 ตันเพิ่มเป็น 80,000 ตันต่อปี สามารถได้เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปลายปี2561 ที่ผ่านมา
“โครงการพัฒนาศักยภาพให้กับสหกรณ์การเกษตรที่รับซื้อข้าวเปลือกและแปรรูปข้าวนี้เป็นประโยชน์มาก ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สหกรณ์นำไปสร้างโกดังเพื่อเป็นแก้มลิงเก็บชะลอข้าวเปลือกไว้ระยะเวลาหนึ่งก่อนทยอยออกสู่ตลาด ทำให้สามารถรักษาเสถียรภาพราคาข้าวหอมมะลิไม่ให้ตกต่ำ โดยในปี 59-60 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคาข้าวเปลือกตกต่ำ รัฐได้ขอให้กรมฯ ช่วยประสานกับสหกรณ์การเกษตร หลายพื้นที่ช่วยซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคานำตลาด เพื่อดึงข้าวเปลือกมาเก็บในโครงการชะลอข้าวเปลือกของรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผล ทำให้ราคาข้าวในตลาดขยับสูงขึ้น และเป็นที่มาของโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่จะสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นแก้มลิงรวบรวมสินค้าการเกษตรหลักๆ ของประเทศ“
ด้าน นางบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์แห่งนี้เป็นสหกรณ์ที่มีการซื้อขายข้าวเปลือกและแปรรูปข้าวหอมมะลิมากที่สุดของประเทศ เดิมมีกำลังการผลิตเพียง 30,000 ตัน แต่เมื่อได้รับงบไทยนิยมฯ 30 ล้านบาทมาปรับปรุง ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็นสามารถรองรับข้าวหอมมะลิได้ปีละ 80,000 ตัน ซึ่งงบจากโครงการไทยนิยมได้นำมาก่อสร้างโกดังเป่าลมเย็นพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร ขนาด 40,000 ตัน เพิ่มจากปัจจุบันที่สหกรณ์มีโรงสีสีข้าวได้ 120 ตันต่อวัน มีไซโลเก็บข้าวสารได้ 200 ตัน โกดังเก็บข้าวสารได้ 5,000 ตัน
สหกรณ์มีทุนหมุนเวียนในการซื้อขายข้าวประมาณ 600 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และมีกำไรจากการขายข้าวสารประมาณ 400-600 ล้านบาทในแต่ละปี ไม่รวมรายได้จากธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือกในฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะขนข้าวมาขายให้สหกรณ์ประมาณ 1,500 ตันต่อวัน รถติด 3-5 กม. แต่สหกรณ์จะเปิดรับซื้อทุกวันไม่มีเวลาปิดทำการจนกว่าสมาชิกจะเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกจนหมด เพราะสมาชิกฝากความหวังไว้กับเรา ซึ่งการขยายศักยภาพการผลิตจากงบโครงการไทยนิยมยั่งยืนทำให้สามารถรองรับผลผลิตของสมาชิกได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการรับซื้อข้าวเปลือก ปี 2560 ได้ประมาณ 60,000 ตัน ปี 61 ตั้งเป้าซื้อ 80,000 ตัน แต่ผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรนำข้าวมาขายได้เพียง 40,000 ตันเท่านั้น และในปี 62 นี้ ตั้งเป้าจะซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรได้ประมาณ 90,000 ตัน ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะเริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยในปีที่ผ่านมาสหกรณ์รับซื้อข้าวเกี่ยวสดความชื้น 30% ราคา 14,000 บาทต่อตัน เป็นราคานำตลาดประมาณ 500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกส่วนหนึ่งแบ่งขายให้กับเอกชน และอีกส่วนหนึ่งสหกรณ์นำมาแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่าย โดยได้ทำตลาดข้าวสารทั้งของสหกรณ์เองและผลิตเพื่อจำหน่ายในยี่ห้อของลูกค้า โดยยี่ห้อของสหกรณ์คือ TK ทุ่งกุลาฟาร์ม ยี่ห้อคนหาบข้าว ยี่ห้อ 101 สีทอง ในขณะเดียวกันก็ได้ผลิตข้าวสารส่งให้ห้างบิ๊กซี โลตัส และสยามพารากอน ไปจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อของตนเอง แต่จะระบุว่ามาจากเกษตรกรทุ่งกุลาร้องไห้ สำหรับเป้าหมายจากนี้ไปสหกรณ์พัฒนาธุรกิจไปสู่การขายข้าวสุกที่พร้อมวางขายให้ผู้บริโภคซื้อไปรับประทานได้ทันที
นอกจากสหกรณ์จะรับซื้อข้าวในราคาที่จูงใจแล้ว สิ้นปีจะมีปันผลให้กับสมาชิกอีกประมาณ 6% นอกจากนั้นยังมีระบบสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ เช่น สร้างห้องพักให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอเกษตรวิสัย กรณีสมาชิกเจ็บป่วยไปใช้บริการนอนที่ห้องนี้โดยไม่ต้องรอเตียงว่างเหมือนคนไข้ทั่วไป รวมทั้งยังมีสวัสดิการในเรื่องทุนการศึกษาของบุตรสมาชิกเบิกได้ 1,500 บาทต่อปี และค่าทำศพ กรณีสมาชิกเสียชีวิต เป็นต้น
“สิ่งสำคัญคือการสร้างให้สมาชิกรู้ถึงประโยชน์ของการร่วมตัวกันเป็นสหกรณ์ ที่ร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย สหกรณ์แห่งนี้จึงเป็นสหกรณ์ที่ใหญ่และสำเร็จจากความร่วมมือของสมาชิก เรามีทุนประมาณ 200 ล้านบาท เงินกู้ 650 ล้านบาท ทุนสำรอง 100 ล้านบาท และไม่มีหนี้เสีย นอกจากธุรกิจของสหกรณ์แล้ว แต่ละปีจะมีโครงการพิเศษ ในช่วงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น เร็วๆนี้จะเตรียมช่วยเหลือเครือข่ายสหกรณ์ภาคใต้ โดยทำโครงการข้าวแลกมังคุดในพื้นที่ พังงา นครศรีธรรมราช ยะลา และเงาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นต้น เพื่อช่วยกระจายผลไม้ออกสู่ตลาด และเมื่อราคาผลไม้ขยับขึ้นสหกรณ์ก็จะถอยออกมา ซึ่งจะเห็นว่าทึกสหกรณ์เราทำงานแบบเกื้อกูลกัน”