“กรมสุขภาพจิต” ย้ำเรื่องละเอียดอ่อน เกิดได้จากหลายสาเหตุหลายปัจจัย ระบุช่วงวัย 10-24 ปี อัตราฆ่าตัวตายยังน้อยกว่าวัยทำงาน-สูงอายุ พร้อมแนะหลักปฐมพยาบาลทางใจ 3 ส ดูแลใส่ใจ หากเห็นอาการ-พฤติกรรมบ่งบอกต้องรีบเข้าช่วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนักเรียนชาย อายุ 15 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตกจากอาคารเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่จ.ปราจีนบุรี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ก.ค.62 โดยข่าวระบุ ก่อนเกิดเหตุคาดเด็กเครียดและซึมเศร้า ทั้งเป็นวันสอบกลางภาควันแรกนั้น กรมฯขอวอนสื่อมวลชนว่า การนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายของนักเรียนหรือวัยรุ่นวัยเรียน ไม่ควรด่วนตัดสินทันที เนื่องจากข้อมูลวิชาการยืนยันว่า การฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดมาจากสาเหตุเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นสาเหตุได้ เช่น ปัจจัยส่วนตัว ปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ เป็นต้น จึงควรให้ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญหาสาเหตุตามหลักวิชาการ และไม่ควรนำเสนอข่าวโดยละเอียด เพื่อป้องกันเลียนแบบในผู้ที่กำลังมีปัญหา สำหรับในเรื่องนี้ กรมฯยินดีดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นข่าวฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมากในประเทศไทย และเป็นที่สนใจของสังคม หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของอัตราฆ่าตัวตายของคนกลุ่มวัย 10-24 ปี โดยจะครอบคลุมวัยเรียนทั้งช่วงมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และอาจรวมถึงผู้ที่เริ่มต้นชีวิตทำงานเป็นช่วงแรกของชีวิต พบว่า อัตราฆ่าตัวตายของคนกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ 3.03 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือคิดเป็น 397 คน เมื่อเทียบกับวัยอื่น ที่มีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อาจถือว่า คนไทยวัย 10-24 ปี มีอัตราฆ่าตัวตายน้อยกว่าวัยทำงาน และวัยสูงอายุ แต่เนื่องจากที่ผ่านมา สังคมค่อนข้างให้ความสนใจกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากมีความสะเทือนใจ และทำให้รู้สึกสูญเสียมาก ทั้งนี้ แนะให้มีกระบวนการช่วยเหลือนักเรียนที่อาจมีปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน เช่น ให้เน้นความสำคัญเรื่องทักษะชีวิตในชั่วโมงเรียน มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาที่นักเรียนรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย มีระบบเพื่อนช่วยเพื่อน สังเกตพฤติกรรมในโรงเรียนที่มีความเสี่ยง เป็นต้น นอกจากนี้ แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นป้องกันได้ โดยใช้หลักปฐมพยาบาลทางใจ 3 ส. คือ 1. สอดส่องมองหา 2. ใส่ใจรับฟัง 3. ส่งต่อเชื่อมโยง หากคนรอบข้าง รวมทั้งครอบครัว ช่วยกันสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือที่บ่งบอกว่าเครียด ได้แก่ เหม่อลอย เก็บตัว แยกตัว ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่สนุกสนานเหมือนเดิม ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือส่งต่อให้แพทย์ได้อย่างทันท่วงที โดยโทรปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง