สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์การค้นพบบนดาวอังคารที่สร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิจัยเป็นอย่างมาก เมื่อพบแก๊สมีเทนปริมาณสูงมากบนดาวอังคาร โดยระบุ “บนโลกของเรามีแก๊สมีเทนประมาณ 1,800 ppbv โดยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากสิ่งมีชีวิต หรือซากของสิ่งมีชีวิต และที่เหลือเกิดจากปฏิกิริยาทางธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จึงพยายามตรวจวัดแก๊สมีเทนบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างจริงจัง เนื่องจากแก๊สมีเทนอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารได้ โดยทั่วไปดาวอังคารมีค่าเฉลี่ยของแก๊สมีเทนอยู่ที่ 10 ppbv ในช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ยานอวกาศและกล้องโทรทรรศน์หลายตัวพยายามตรวจวัดแก๊สมีเทนบนดาวอังคาร แต่ปริมาณที่ตรวจวัดได้ยังไม่สามารถบ่งบอกถึงแหล่งกำเนิดของแก๊สที่ชัดเจนได้ กระทั่งปี พ.ศ. 2555 รถสำรวจ “คิวริออซิตี้” ค้นพบ การเปลี่ยนแปลงปริมาณแก๊สมีเทนบริเวณหลุมอุกกาบาตเกล เครเตอร์ (Gale Crater) คือ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปแบบตามฤดูกาลบนดาวอังคาร เป็นหนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจในขณะนั้น ล่าสุด วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2562 โอเลก โคราเบลฟ (Oleg Korablev) นักฟิสิกส์จากสถาบันวิจัยอวกาศในมอสโกกล่าวว่า “การตรวจวัดครั้งล่าสุด แสดงผลที่น่าตื่นเต้นมาก” เขาใช้เครื่องมือตรวจจับแก๊สมีเทนบนยานอวกาศ Trace Gas Orbiter (TGO) ขององค์การอวกาศยุโรปและองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย ตรวจพบแก๊สมีเทนในชั้นบรรยากาศปริมาณมากที่สุดที่เคยพบบนดาวอังคาร ปริมาณ 21 ต่อพันล้านโดยปริมาตร (ppbv) เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากแก๊สมีเทนที่ผลิตขึ้นที่พื้นผิวดาว แล้วลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม นาซากำลังขยายเวลาสำรวจของยานคิวริออซิตี้ ณ ตำแหน่งปัจจุบัน คือบริเวณ เทียล รีดจ์ (Teal Ridge) ซึ่งคิวริออซิตี้ได้ทดลองเพื่อตรวจวัดแก๊สมีเทนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยผลลัพธ์ใด ๆ ออกมา”