“เสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาทางภาคเหนืออยู่ที่ความอ่อนช้อยของลวดลายที่เราสรรสร้างลงบนชิ้นงาน ช่างฝีมือทางภาคเหนือค่อนข้างจะมีความละเอียด และประณีตในการวาดลวดลายลงบนชิ้นงานแต่ละชิ้น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ครองใจลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน” กิตติกร กาญจนคูหา ทายาทรุ่นที่สองของแบรนด์เซรามิคล้านนาชื่อดังในจังหวัดลำพูน “ชวนหลงเซรามิค” หลังเข้ามารับช่วงต่อกิจการของบิดาเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วง ‘ขาลง’ ของเซรามิค กิตติกร จึงผุดไอเดียนำเสน่ห์ของการวาดลวดลายเซรามิคมาประยุกต์และพัฒนาชิ้นงานให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย “สมัยก่อนชิ้นงานเซรามิคจะถูกสรรสร้างด้วยสีเพียงโทนเดียว ถ้าเป็นสีฟ้ากับสีขาว ก็จะใช้พื้นขาว และลวดลายเป็นสีน้ำเงิน ถ้าเป็นศิราดลก็เป็นพื้นสีเขียวไข่กา ลวดลายเป็นสีดำ เราจึงพัฒนาชิ้นงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเพิ่มสีสันที่สดใส และใช้สีที่หลากหลายในชิ้นงานเดียวกัน เพราะว่าการใช้สีโทนเดียวมันอาจจะดูคลาสสิค แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เราจึงใช้สีสันต่างๆ เข้ามาผสม” นอกจากสีสันที่สดใสและหลากหลาย กิตติกร ยังพัฒนารูปแบบงานปั้นโดยเน้นฟังก์ชั่นหรือการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ภาพจำของเซรามิคไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ของใช้ประเภท จาน ชาม ถ้วย จาน หม้อ ไห หรือแจกัน แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์เป็นผนังกั้นห้อง ของประดับบ้าน หรือแม้แต่งานปั้นที่แฝงไว้ด้วยความเชื่อและความศรัทธา เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายและตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น “แนวคิดในการพัฒนาชิ้นงาน เราต้องดูตลาดก่อนว่าเราจะพาชิ้นงานตัวนี้ไปในตลาดไหน สหรัฐอเมริกาก็จะอาจจะเป็นลายแบบหนึ่ง ตลาดยุโรปก็เป็นลายอีกแบบหนึ่ง จากนั้น เราก็เอามาผูกกับลายเดิมๆ ของไทยให้มันมีความทันสมัยมากขึ้น” หัวใจสำคัญในการบริหารจัดการแบรนด์ ‘ชวนหลงเซรามิค’ ของ กิตติกร จนทำให้วงการเซรามิคกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เขามองว่า ฝีมือของช่าง การพัฒนารูปแบบ ลวดลาย และดีไซน์ของชิ้นงาน ล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะความหลากหลายของสินค้า รูปแบบที่ทันสมัย รวมถึงความประณีตอ่อนช้อยของชิ้นงาน คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ และทำให้ยอดขายของแบรนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี เรื่อง เซรามิกล้านนาดีไซน์ร่วมสมัย รายการ ‘เพื่อนคู่คิด’ นำออกอากาศเผยแพร่ทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 33 เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 6 มิถุนายน 2562 สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokbank.com/puankookit และ www.facebook.com/puankookit