นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงได้รับ ความไว้วางใจให้เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ททท. ในฐานะหน่วยงานหลัก ดังนั้นด้านการตลาด จึงต้องแสวงหาแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุความคาดหวังของรัฐบาล โดย ททท. ประเมินตัวเลขการเติบโตของปริมาณและรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2562 นั้นยังคงมีอัตราที่น่าพอใจและได้กำหนดทิศทางการเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากการท่องเที่ยว Mass Tourism เข้าสู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ซึ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ  ทั้งนี้ การปรับตัวเลขอัตราการเติบโต เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มรายได้เป็นสำคัญ ซึ่งการจัดทำทิศทางฯ ปี 2563 นี้ ททท. ยังได้นำจุดแข็งของประเทศที่สะท้อนจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาเป็นแนวทางหลักในการทำการตลาดเพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้แรงกดดันของสถานการณ์โลกที่มีความผันผวน รวมทั้งความเสียหายของสภาพแวดล้อมจากน้ำมือมนุษย์ที่มีผลต่อธรรมชาติ อันเป็นทรัพยากรสำคัญของการท่องเที่ยว อีกทั้ง ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูลข่าวสาร ที่ ททท. ต้องก้าวให้ทัน และนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด   ในปี 2563 ททท. จะมุ่งสร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าของ Brand ประเทศไทย โดยผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบให้เป็นรูปธรรมในทุกมิติของการสื่อสารและลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และตระหนักในวงกว้าง ผ่านช่องทางของอนุสาร อ.ส.ท. เพื่อให้มั่นใจในสินค้าและบริการที่ ททท. นำเสนอด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบการเดินทาง รวมไปถึงการทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์การให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในแง่มุมของกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรและไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและสังคม   ทั้งนี้ ททท. ได้เดินหน้านำเสนอสินค้าและบริการที่สามารถชูเอกลักษณ์วิถีไทยที่ทรงเสน่ห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกระบวนการพัฒนา ต่อยอด เพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านการใช้นวัตกรรม ที่ผสมผสานกับเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น กับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่รักและต้องการพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง ให้มีการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ท้องถิ่นต้องการเพื่อสืบสานและส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป อีกทั้งยังเป็นการออกแบบสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ช่วยเพิ่มการใช้จ่ายหรือกิจกรรมที่ดึงให้นักท่องเที่ยวอยู่นานวันขึ้น   โดยนายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สังคม และการแข่งขันในหลากหลายสาขา ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวนั้น ททท. ได้กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงและที่ให้ความสำคัญกับคุณค่ามากกว่าราคา ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกและสรรหาสินค้าและบริการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การบริโภคทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางท่องเที่ยว การลดละ และเลิกการกระทำที่จะส่งผลช่วงอายุของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรรมขาติ วิถีชีวิตท้องถิ่น   นอกจากนี้ ททท. ยังได้มีแนวทางในการคัดสรรกลุ่มเป้าหมาย โดยตลาดต่างประเทศ เน้นการเจาะกลุ่มคุณภาพรายกลุ่ม (Segment) ต่อยอดจากปีที่ผ่านมา โดยแนวคิดของตลาดต่างประเทศ คือ Go high คือ มุ่งเจาะและขยายกลุ่มกำลังซื้อสูง มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อม Go New Customer คือ ขยายกลุ่ม First Visit จากกลุ่มลูกค้าใหม่ (new segment)  ในพื้นที่เดิมและการหาลูกค้าในพื้นที่ใหม่ ๆ (New Area)  Go Local คือ เจาะกลุ่มลูกค้าที่สนใจการท่องเที่ยววิถีถิ่น Go Low Season การกระตุ้นการเดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และ Go Digital เป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการเข้าถึงลูกค้า   สำหรับตลาดในประเทศ แบ่งกลุ่มเป้าหมายในหลายมิติ จำแนกตามลักษณะ (Profile) ได้หลากหลายกลุ่ม : Gen X / Gen Y /Family and Millennial family /Silver age / Lady / First Jobber /Multi-Gen / Corporate โดยจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายร่วมของภูมิภาค ทั้งนี้ จะมุ่งเจาะและขยายตลาดคนไทยให้ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อขยายฐานตลาดใหม่ ๆ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดกรุงเทพฯ มากจนเกินไป รวมทั้ง แก้ปัญหาเรื่องการแย่งตลาดกันเอง อีกด้วย ส่วนแนวทางการสื่อสารการตลาดในปี 2563 นั้น ในตลาดต่างประเทศ คือ Amazing Thailand ที่ยังคงใช้ Working Concept “Open to the New Shades” ที่เนื้อหามุ่งเน้นให้การนำเสนอประสบการณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจจากประสบการณ์จริงและเกินความคาดหมาย ที่นักท่องเที่ยวมีต่อประเทศไทย โดยจะจัดทำชุดโฆษณาจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ตลาดในประเทศ คือ amazing ไทยเท่ ภายใต้ Working Concept “เมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์”ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุและกลุ่มความสนใจ หรือข้ามกลุ่มลูกค้า กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคนไทยมีความสนุก ความสุข และความภูมิใจในออกแบบการท่องเที่ยวของตัวเอง และความต้องการส่งต่อวิธีเที่ยวของตนให้กับผู้อื่นให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบการท่องเที่ยวในสไตล์ของตนเองบ้าง   ทั้งนี้ ในปี 2563 ยังเป็นโอกาสที่ ททท. จะครบ 60 ปี ในการก่อตั้งหน่วยงาน จึงได้ทำแคมเปญตามแนวคิด “ก้าวต่อไป เพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน” ควบคู่กับแคมเปญทางการตลาด มุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ พนักงาน ททท. ประชาชนทั่วไป และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับประเทศต่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบอันหมายรวมถึงการเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ  นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะเพิ่มความน่าสนใจให้นักท่องเที่ยว อาทิ ตลาดต่างประเทศ มีแนวคิดจัดทำ “Amazing Thailand Week” ผ่านการทำงานของ สำนักงาน ททท. สาขาต่างประเทศทุกแห่งทั่วโลก โดยร่วมกับพันธมิตรจากทุกภาคส่วน กระตุ้นความสนใจนักท่องเที่ยวให้อยากเดินทางมาเมืองไทยเพิ่มเติม ผ่านการดำเนินงานรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ทุก Touch point มีเรื่องราวที่ดีเกี่ยวกับประเทศไทยตลอดทั้งสัปดาห์ โดยหวังว่าการผนึกกำลังลักษณะนี้ จะทำให้ประเทศไทยโดดเด่น เป็นที่จับตามองมากขึ้นกว่าปกติในช่วงเวลาที่กำหนดจัดกิจกรรม   ขณะที่ตลาดในประเทศ มีแนวคิดจัดทำ “โครงการ 60 เส้นทางความสุข @ เมืองไทย เดอะ ซีรีส์” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ภายใต้แรงบันดาลใจของ 3 ฤดูกาลที่แตกต่าง โดยเส้นทางที่สร้างสรรค์จะใช้ระบบการขนส่งของภูมิภาคและพาหนะท้องถิ่นเป็นเครื่องมือส่งต่อการท่องเที่ยวใน 60 เส้นทางความสุขทั่วประเทศ โดยจุดหมายปลายทางจะเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยวหลักและรอง ไปจนถึงชุมชนที่มีความพร้อมในการรองรับ   นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ททท. ได้วางเป้าหมายเชิงการตลาดในปี 2563 ไว้อย่างชัดเจน ในการรักษาตำแหน่งประเทศที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก สร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10% หรือประมาณ 3.71 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป้าหมายด้านการสร้างความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว  ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง