กรมปศุสัตว์ส่งทีมสัตวแพทย์ตรวจสาเหตุ “ควายทะเลน้อย” ล้มตาย 8 ตัว ป่วย 13 ตัว แจงพบพยาธิในเม็ดเลือด ชี้ติดจากโคเนื้อที่เลี้ยงรวมกันหนาแน่นกว่า 600 ตัว ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน สัตว์ขาดสารอาหารผอมโซร่างกายอ่อนแอ เร่งคุมสถานการณ์ นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขานุการกรมปศุสัตว์ ในฐานะรองโฆษกกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า ฝูงควายน้ำในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ทยอยล้มตายลงภายหลังอพยพหนีน้ำท่วมขึ้นไปยังพื้นที่สูง ว่า กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาสาเหตุการตายของควายน้ำในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งพบว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ควายน้ำได้เริ่มล้มตายลง จำนวน 5 ตัว และ 2-3 วันต่อมาควายก็ตายเพิ่มอีก 2 ตัว ปัจจุบันมีควายตายไปแล้ว จำนวน 8 ตัว และป่วยรวม 13 ตัว เป็นของเกษตรกร 4 ราย นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขานุการกรมปศุสัตว์ ในฐานะรองโฆษกกรมปศุสัตว์ ทีมสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือดควายที่ตายส่งตรวจวิเคราะห์พบว่า มีโรคพยาธิในเม็ดเลือดเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว คือ บาบีเซีย ไบเจมีนา ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อจากเห็บ สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวจะไม่อยากกินอาหาร มีสภาวะเลือดจางมาก เยื่อบุตาเป็นสีแดง เยื่อเมือกบริเวณอวัยวะเพศแดง ปัสสาวะมีสีแดงเข้ม (สีโค้ก) ทั้งยังมีอาการอ่อนแรงและล้มตายได้ เบื้องต้นทางสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาพยาบาลควายที่ป่วยและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ได้มีการส่งตัวอย่างเลือดควายไปตรวจหาโรคติดต่ออื่นๆ ที่มีอาการใกล้เคียงกันที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างผลตรวจ และให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงเก็บตัวอย่างอุจจาระควายส่งตรวจหาพยาธิใบไม้ตับด้วย “ควายที่ตายนี้อยู่ในฝูงที่อพยพขึ้นมาจากทะเลน้อยมาอาศัยอยู่บนถนน ประมาณ 450 ตัว รวมกับฝูงโคเนื้อ ประมาณ 200 ตัว ซึ่งการที่โคเนื้อและควายอาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น มีโอกาสที่เห็บโคซึ่งเป็นพาหะนำโรคพยาธิในเม็ดเลือดมาดูดกินเลือดควายทำให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้นประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน สัตว์ขาดสารอาหารและเกิดความเครียด ร่างกายอ่อนแอลง แสดงอาการป่วยและล้มตายในที่สุด แต่ไม่พบรายงานว่ามีโคป่วย ซึ่งจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ มีควายน้ำที่หากินในพื้นที่ทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย และตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับผลกระทบกว่า 2,706 ตัว เกษตรกร 272 ราย” นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กล่าว ส่วนฝูงควายน้ำในพื้นที่ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีจำนวน 1,875 ตัว เกษตรกร 87 ราย ทางกรมปศุสัตว์ได้จัดส่งหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่จากหน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม (DHHU) จากสำนักงานปศุสัตเขต 5 และเขต 9 ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดน้ำท่วมเพื่อให้บริการดูแลรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสัตว์ป่วย พบว่า มีควายตายไม่เกิน 1% ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคระบาด แต่ตายเพราะร่างกายอ่อนแอของลูกสัตว์แรกเกิดและควายที่ขาดสารอาหารและร่างกายซูบผอม หลังจากต้อนฝูงควายน้ำอพยพขึ้นไปยังพื้นที่สูง กรมปศุสัตว์ได้จัดทีมสัตวแพทย์เข้าไปรักษาควายที่ป่วยและได้รับบาดเจ็บจากการอพยพ โดยการรักษาตามอาการและฉีดวิตามินบำรุงร่างกาย ทั้งยังส่งมอบเสบียงสัตว์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเฉพาะหน้า โดยมอบหญ้าแห้งให้เกษตรกรในพื้นที่ทะเลน้อยใช้เลี้ยงควายน้ำไปแล้วกว่า 300 ตัน ขณะนี้ได้สนับสนุนหญ้าแห้งอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละกว่า 42 ตัน เพื่อหล่อเลี้ยงฝูงควายทะเลน้อยให้อยู่รอดและสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ “ขณะเดียวกันยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เลี้ยงควายที่ทะเลน้อยในระยะยาว ด้วยการทำเกาะ จำนวน 9 แห่ง เพื่อให้ฝูงควายได้อยู่อาศัยโดยหลังน้ำลดและกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะดำเนินการปรับระดับเนินดินให้มีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร และสูงจากระดับน้ำ 2.5 เมตร แล้วปูด้วยแผ่นพื้นสำเร็จรูปขนาด 35 เซนติเมตร ยาว 5 เมตร หนา 7 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่า จะสามารถรองรับควายได้แห่งละ 100 ตัว รวม 900 ตัว” นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กล่าว