สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในขณะนี้ จัดเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุมาจากยังเยาว์วัยทางความคิด การตัดสินใจ การควบคุมตนเอง ภายใต้ความไม่พร้อมของครอบครัวที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งและให้คำแนะนำได้อย่างเพียงพอ แม้จะหลงเดินทางผิด มีความประพฤติเบี่ยงเบนและทำผิดกฎหมาย เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ก็สมควรได้รับโอกาส ความช่วยเหลือ และคำแนะนำให้สามารถกลับตัวเป็นคนดี และเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคมต่อไปได้ โดยเมื่อเร็วๆนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้เชิญผู้นำและผู้นำรุ่นใหม่ในหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD Program) เข้าร่วมการศึกษาดูงาน เรื่อง “แนวการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิด” ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม ถอดบทเรียนมิติการฟื้นฟูและเสริมพลังด้านบวกให้แก่เยาวชนผู้ก้าวพลาด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า จากความรุนแรงของสถานการณ์การกระทำผิดในเด็กและเยาวชนขณะนี้ จำต้องมีการหาแนวทางฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้สังคมมีทัศนคติที่เปิดกว้างและเข้าใจที่มาภูมิหลังของพฤติกรรมทางสังคมแบบนี้มากเพียงพอ จนสามารถยอมรับพวกเขากลับคืนสู่สังคม เพราะโอกาสเล็กๆที่ถูกหยิบยื่นให้กับเยาวชน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่เคยกระทำผิดได้มีโอกาสและมีความหวังในชีวิต จากการมีทางเลือกต่างๆ มากขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการกลับไปกระทำผิดอีกครั้งเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ซึ่งถือเป็นการป้องกันอาชญากรรมทางหนึ่ง ทำให้สังคมมีความสงบสุขและปลอดภัยต่อไปด้วย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์ฝึกแห่งแรกที่เป็นสถานบำบัด ฟื้นฟูเยาวชนที่ก้าวพลาดอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขาออกไปสู่สังคมได้อย่างปกติ ไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่มีจุดสมดุลระหว่างการเคารพในความเป็นมนุษย์และการลงโทษให้พวกเขาเข้าใจเหตุผลที่ทำให้ถูกจำกัดอิสรภาพ ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม หรือ ‘ป้ามล’ กล่าวว่า บ้านกาญจนาฯ ไม่ใช่คุก อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ และเยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้ก็ไม่สมควรถูกปฏิบัติเยี่ยงนักโทษ แม้จะเป็นผู้กระทำผิด แต่เขาก็มีสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่นี่พยายามจะไม่ใช้ความรุนแรงกับพวกเขา หากแต่เรามองหาจุดสมดุลระหว่างเหตุผลที่ทำให้เขาต้องถูกจำกัดอิสรภาพ กับความจริงที่เขายังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งจุดสมดุลในบ้านหลังนี้ก็มาจากเขาเองว่า ภายใต้การถูกจำกัดอิสรภาพระดับหนึ่ง มันมีอะไรบ้างที่เขารู้สึกว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดและกติกาทุกอย่างในบ้านหลังนี้ เราต้องให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม