มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับอำเภอไชยา หอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลเวียงและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา จัดพิธีทำขวัญข้าว ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาครัวเรือนยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “แปลงนาสาธิตกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศาลาประจำหมู่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านเชิงสมอ ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.ชนัญชิดา ทิพย์ญาณ รองอธิการบดี ฝ่ายบริการวิชาการและขับเคลื่อนพระราโชบาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงมีการสืบสานและอนุรักษ์พันธ์ข้าวหอมไชยาและพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยาให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และงานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ในครั้งนี้ได้จัดกิจกรรม เผยแพร่ สืบสานและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา โดยร่วมกับอำเภอไชยา หอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลเวียงและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมและพัฒนาครัวเรือนยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้มีหัวหน้าส่วนราชการ หอการค้า นักเรียนจากโรงเรียนบ้านสามสักและชุมชน ร่วมลงแขกปักดำนา ศึกษาวิถีชุมชนชาวนาและชมนิทรรณการข้าวหอมไชยาและชิมอาหารที่ประดิษฐ์และแปรรูปจากข้าวหอมไชยา โดยมีกิจกรรมที่เน้นฟื้นฟูประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดพิธีการทำขวัญข้าว สมโภชแม่โพสพ และการลงแขกปักดำนา การทำนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ การกำจัดศัตรูพืชและกำจัดแมลงโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้าวหอมไชยา เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกเฉพาะถิ่นในพื้นที่อำเภอไชยา มีประวิติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรมตลอดทั้งเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ที่ปลูกมานานเกือบ 100 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ปลูกข้าวได้งอกงาม เนื่องจากมีน้ำจากคลองไชยา ไหลผ่านตลอดปี มีลักษณะเด่นคือ หอมไปทั่วทุ่ง แตกต่างจากข้าวทั่วไปจนเป็นที่เล่าขานกันว่า “เวลาออกรวงหอมไปทั่วทุ่ง เวลาหุงหอมไปทั่วบ้าน” แต่ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกข้าวหอมไชยากลับลดลง ข้าวหอมไชยาแท้กำลังจะสูญหายเพราะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เมล็ดพันธุ์ข้าวมีไม่เพียงพอในการปลูก