ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวรสนา โตสิตระกูล เป็นนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค โพสต์เพจเฟซบุ๊กระบุข้อความว่า...
“แปรรูปกฟผ.ไม่สำเร็จ แต่ก็ล้วงตับไตไส้พุงได้สำเร็จ” สมมติว่าท่านเป็นเจ้าของร้านผลิตและขายขนมปัง ที่ผลิตขนมปังได้เพียงพอขายลูกค้าประจำอยู่แล้ว กิจการมั่นคง รายได้มั่งคั่ง ต่อมาผู้จัดการร้านที่ท่านจ้างมาบริหารร้าน ทำเรื่องจะขายหุ้นร้านขนมปังให้เอกชนอื่นมาร่วมแบ่งกำไรด้วย แต่เจ้าของไม่ยอม จนในที่สุดไม่ได้ให้เอกชนอื่นมาร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วย ต่อมาผู้จัดการคนใหม่ กำหนดนโยบายให้ร้านของท่านต้องรับซื้อขนมปังจากร้านเอกชนอื่นบ้าง และทำสัญญาจะรับซื้อขนมปังที่เอกชนผลิตระยะยาว25ปี และยังทำสัญญาต้องรับซื้อทั้งหมดที่เอกชนผลิตได้ ไม่ว่าจะขายได้หรือขายไม่ได้ก็ตาม และถ้าลูกค้าลดลง ผู้จัดการจะสั่งให้ร้านตัวเองลดการผลิตขนมปังลง แต่ต้องรับซื้อจากร้านอื่นทั้งหมดก่อน ผู้จัดการช่วยป้องกันความเสี่ยงให้เอกชน โดยให้ร้านของท่านรับความเสี่ยงแทน จนปัจจุบันร้านของท่านผลิตขนมปังได้แค่ 38% ที่เหลืออีก 62%ให้ร้านเอกชนเป็นผู้ผลิตขายให้ท่าน แถมผู้จัดการร้านได้กำหนดนโยบายว่า ต่อไปจะให้ร้านตัวเองผลิตขนมปังลดลงเหลือ25% เท่านั้น ที่เหลือให้ซื้อจากเอกชนรายอื่น จนบัดนี้ร้านค้าเอกชนรายใหญ่สุดที่ผลิตขนมปังขายให้ร้านท่าน ร่ำรวยเป็นเศรษฐีอันดับ2 ของประเทศเลยทีเดียว ท่านคิดว่าถ้ามีผู้จัดการแบบนี้ ท่านยังควรจ้างมาบริหารร้านค้าของท่านต่อไปอีกหรือไม่!? เรื่องสมมติที่เล่ามาข้างต้น คงพอจะทำให้เห็นความไร้สติของผู้จัดการร้าน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง เจ้าของร้านต้องไล่ตะเพิดผู้จัดการออกไปแล้ว ไม่เลี้ยงให้เสียข้าวสุก ข้าวสาร เป็นแน่ ใช่หรือไม่ ที่น่าเศร้าคือเรื่องสมมตินี้เกิดขึ้นจริงกับกิจการไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือเจ้าของตัวจริงคือเป็นประชาชนไม่สามารถไล่ตะเพิดผู้จัดการที่บริหารจนเกิดเรื่องแบบนี้ รัฐบาลในยุคหนึ่งพยายามจะแปรรูปกฟผ.ให้มีเอกชนมาเอี่ยวผลกำไรครึ่งหนึ่งแบบเดียวกับ ปตท. แต่ไม่สำเร็จ เพราะเครือข่ายผู้บริโภคและพนักงานกฟผ.ฟ้องศาลปกครองจนสามารถเพิกถอนการแปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้สำเร็จ เมื่อไม่สามารถแปรรูปได้สำเร็จ ก็ใช้วิธีล้วงตับ ไต ไส้ พุง แทนด้วยการออกหลักเกณฑ์ให้เอกชนผลิตไฟฟ้าขายให้กฟผ. โดยมีสัญญารับซื้อ25ปี ที่ทำให้เอกชนเป็นเสือนอนกินจนร่ำรวยไปตามๆกัน ตามประวัติศาสตร์ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อก๊าซจากแหล่งเอราวัณมาใช้ผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2524 หลังการแปรรูปปตท. แต่แปรรูปกฟผ.ไม่สำเร็จ รัฐบาลทุกรัฐบาลหลังจากนั้นล้วนให้อำนาจและสิทธิผูกขาดแก่ปตท.ในการรับซื้อก๊าซและขายก๊าซให้กฟผ.แทนที่จะให้กฟผ.ที่เป็นกิจการของรัฐ100% สามารถซื้อตรงจากผู้ขุดเจาะได้เอง ซึ่งจะได้ราคาถูกกว่าซื้อผ่านคนกลางที่เป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชนแน่นอน และประชาชนผู้ใช้ไฟ ก็จะจ่ายค่าไฟถูกลง เมื่อแหล่งบงกช เอราวัณกำลังจะหมดอายุสัญญา และรัฐบาลสามารถนำมาบริหารเอง โดยจ้างเอกชนขุดเจาะ และส่งก๊าซให้กฟผ.ผลิตไฟฟ้าได้โดยตรง รัฐบาลปัจจุบันกลับไม่ทำ กลับยกให้ปตท.ที่รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของทั้ง 100%เหมือนกฟผ. แต่กลับให้เป็นตัวกลางขายก๊าซให้กฟผ. เพราะอะไร!? ที่ไม่ให้กฟผ.รับซื้อก๊าซโดยตรงจากผู้รับสัมปทานขุดเจาะ นอกจากเป็นการผ่องถ่ายกำไรให้เอกชนจากกระเป๋าประชาชนผู้ใชไฟแล้ว น่าจะเกี่ยวพันกับท่อก๊าซในทะเลที่เป็นสาธารณสมบัติซึ่งเปรียบเสมือนถนนที่เป็นทางเดินของก๊าซ ที่ไม่ได้อยู่ในมือของรัฐบาล เพราะถูกโอนไปให้บริษัทเอกชนที่รัฐถือหุ้นในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท)โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด) ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันไม่จัดการแก้ไข และจนบัดนี้คดีพิพาทเรื่องท่อก๊าซก็ยังค้างอยู่ในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่4 ก.ค 2562 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งผลวินิจฉัย ข้อร้องเรียน กฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 50 % ของกำลังผลิตทั้งประเทศขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และจี้กระทรวงพลังงาน หาแนวทางเพิ่มสัดส่วนให้เกิน 51% ภายในปี2572 นับเป็นคำสั่งที่จะสามารถหยุดยั้งการถ่ายเทกำไรออกจากกิจการผลิตไฟฟ้าของรัฐวิสาหกิจไปให้เอกชนร่ำรวย เป็นการคืนความยุติธรรมให้กับกิจการของรัฐวิสาหกิจที่เป็นทรัพย์สินของประเทศ นโยบายของรัฐบาลแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ทำให้กิจการของรัฐวิสาหกิจถดถอย และเสียหาย ไม่ใช่มีเฉพาะกฟผ.เท่านั้น ยังมีกรณีอื่นอีกมากมาย ดังเช่นกรณีการโอนท่อก๊าซโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ครม.ที่อนุมัติยังไม่เคยถูกสอบสวนเอาผิดแต่ประการใด หรือกรณีโรงงานยาสูบ ที่เป็นกิจการผูกขาดมาถึง78ปี ทำรายได้ให้รัฐในระดับท็อป 5 แต่รัฐบาลปัจจุบันยังสามารถบริหารให้ขาดทุนได้ โดยไม่ได้แก้ไขความผิดพลาดจนถึงขณะนี้ สมควรถูกสอบสวนและลงโทษหรือไม่ หากการกระทำให้กิจการของส่วนรวมของชาติต้องเสียหาย ด้อยค่า ซึ่งเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายเช่นนี้ไม่ถูกลงโทษเสียบ้าง ก็จะมีการกำหนดกติกาเหลวไหลต่างๆที่ทำให้กิจการของรัฐต้องเสียหายต่อไปอีกนับไม่ถ้วน เพราะผู้ออกหลักเกณฑ์เหล่านั้นไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้กับการทุจริตเชิงนโยบายแบบนี้ต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด รสนา โตสิตระกูล 5 ก.ค 2562