ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “วิถีแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์เราในโลกนี้...ล้วนมีเงื่อนไขเฉพาะที่สมควรต้องเรียนรู้ในรายละเอียดแห่งแก่นสารอันเป็นรากของความหมายที่ซ่อนลึกของมัน...นั่นคือภาวะแห่งเจตจำนงที่ขยายกว้างสู่นัยของจิตใจที่จักต้องมีการรับรู้และเข้าใจโดยถ่องแท้...ผ่านงานของชีวิตตลอดจนรายละเอียดแห่งบริบทอันสลับซับซ้อน กระทั่งปรากฏเป็นสัญญาณต่อแบบแผนแห่งข้อตระหนักที่หลอมรวมขึ้นเป็นที่ทางแห่งชีวิต...อันยากจะแปรเปลี่ยน” กันว่า..ผู้คนมากมายในยุคสมัยนี้...ถ้าชีวิตไม่เครียดเกินไป ก็จะรู้สึกถึงความว่างเปล่าในจิตใจ เคว้งคว้างท่ามกลางกระแสพัดพา...ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับตัวเองดีและไม่รู้ทิศทางที่จะมุ่งไปข้างหน้า.. บริบททางความคิดดังกล่าวนี้...คือสาระสำคัญแห่งหนังสือที่ได้มอบตัวอย่างอันสำคัญแก่ผู้อ่านในประเด็นที่ชวนตั้งคำถามต่อโครงสร้างของความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับชีวิตที่ว่า..ทำไมคนบางคนถึงเปลี่ยนงานบ่อย ไม่เคยทำงานได้นาน และแน่นอนว่ายังไม่พบงานที่ใช่ในชีวิต...นั่นคืออุปสรรคต่อการก้าวย่างของชีวิตที่ค่อนข้างจะติดตัน..ความคิดที่เป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ คือภาวะที่ช่วยชี้แนะแนวทางแห่งการจัดการกับอุปสรรคอันพัวพันเหล่านั้น ตลอดจนวิถีที่นำไปสู่การค้นพบงานที่เหมาะสมกับตัวเรา...อันถือเป็นงานแห่งชีวิต...งานที่จะทำให้เกิดความสุขกายสบายตัวเป็นผลตอบแทนจากการทำงาน แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า...งานที่ดีอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะหนังสือเล่มนี้จะให้ข้อสรุปอันน่าใคร่ครวญว่า...ชีวิตที่ดีหรือมีดีนั้น จะต้องมีและเป็นทั้งความสุขและความหมายเป็นเครื่องตอบสนองชีวิตของเราทุกๆคนในทุกๆด้านเสมอ นั่นหมายถึงการงานแห่งชีวิตที่หยั่งลึกอยู่กับตัวตนที่แท้อย่างติดตรึงและมั่นคง “บางทีการงานแห่งชีวิตอาจไม่ใช่งาน อาชีพ วิชาชีพ หรือบทบาทใดเป็นพิเศษ บางทีมันอาจเป็นความรู้สึกถึงตัวตน ที่ได้จากการการย้ายจากงานหนึ่งไปยังอีกงานหนึ่งมาตลอดชีวิต และที่สุดอาจถึงขั้นเปลี่ยนอาชีพไปเลย บางทีมันก็ยากที่จะหยั่งรู้ เพราะอาจต้องอาศัยประสบการณ์มากในระดับหนึ่งกว่าจะเผยให้เห็น” “ที่ทางของคุณบนโลกนี้”(A Life at Work)งานเขียนของ”Thomas Moore” นักเขียนอเมริกัน นักจิตบำบัด ผู้มีความสนใจอันหลากหลาย และเคยดำรงสถานะต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระ นักดนตรี และอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ศึกษาในสรรพวิชาที่ลุ่มลึกทั้งจิตวิทยา เทววิทยา และดนตรี/เขียนหนังสือทางด้านจิตวิทยาเชิงลึก ปกรณัมวิทยา..ผลงานเขียนของเขาได้รับการแปลไปกว่าสามสิบภาษาทั่วโลก “ไม่กี่ปีก่อน สเปนเซอร์ ไนลล์ได้เชิญผมไปบรรยายให้ที่ปรึกษาอาชีพ ในซานฟรานซิสโกฟัง แต่แทนที่จะพูดถึงเรื่องงานและการตามหามหางานในฝัน ผมตัดสินใจพูดเกี่ยวกับโอปุส/บทประพันธ์ของการเล่นแร่แปรธาตุ ภารกิจล้ำลึกของการสร้างตัวตนและชีวิต ...ซานเด จอห์นสันผู้เคยร่วมงานกับสำนักพิมพ์สื่อการศึกษารายหนึ่ง แนะนำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้..ตอนที่เขียนผมมีโอกาสได้ย้อนคิดถึงอิทธิพลต่างๆที่มีต่อตัวผมเองนับแต่พ่อวัย94ปีที่ยังคงง่วนอยู่กับการงานแห่งชีวิต ทั้งการสอนหนังสือ เล่นดนตรี และช่วยเหลือผู้คนทั่วไป เขาต้องขับรถออกจากบ้านไปทำงานเหล่านี้สัปดาห์ละสี่วัน/ผมยังคิดถึงเพื่อนๆที่ก็เหมือนเราทุกคน..คือต่างก็ดิ้นรนหาว่าการงานแห่งชีวิตในระดับลึกจะเป็นอะไร และสำหรับผมในตอนนั้น...มันเป็นเรื่องน่าแปลกอย่างมากที่การงานแห่งชีวิตที่ดำเนินมาอย่างราบเรียบมานานกว่าสิบห้าปี แต่แล้วจู่ๆ มันก็เกิดโคลงเคลงตอนที่กำลังเขียนหนังสือเล่มนี้..กระทั่งผมต้องจินตนาการ...การงานแห่งชีวิตใหม่อีกครั้ง และขณะที่หนังสือเล่มนี้ออกสู่สาธารณะ ผมกำลังสร้างตัวตนขึ้นใหม่ ซึ่งผมต้องกลับไปอ่านหนังสืออีกรอบ เพื่อหาไอเดียให้กับตัวเองในที่สุด” นัยแห่งเงื่อนไขอันเป็นเนื้อในแห่งชีวิตของ”โธมัส มอรร์”ตรงส่วนนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่ถือเป็นประสบการณ์แห่งการปลูกสร้างจิตวิญญาณต่อความเข้าใจเรื่องราวของโลกผ่านการวิเคราะห์จากประสบการณ์ตรงที่ทรงพลังต่อการรับรู้อย่างยิ่ง..ด้วยวิถีอันน่าขบคิดนี้มันได้ตอกย้ำถึงว่า “การงานแห่งชีวิต”นั้นคือภารกิจในชีวิตของเราทุกคน หมายความว่าทั้งชีวิตของเราทุกคนคือการงาน และทุกด้านของมันได้ส่งเสริมความรู้สึกที่ว่า สิ่งๆนั้นเป็นสิ่งที่เราถูกเรียกให้ทำ...แท้จริงเราอาจจะหมกมุ่นอยู่กับอาชีพแต่ไม่อาจละเลยความสำคัญของการเป็นพ่อแม่...นั่นคือข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราถูกเรียกให้ทำเช่นกัน...การรู้ว่าอาชีพเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมด..เราก็อาจจะทุ่มเทกำลังและเอาใจใส่มันในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่หมดทั้งชีวิต เราอาจแก้ปัญหาความตึงเครียดระหว่างงานกับครอบครัวด้วยความเชื่อมั่นว่า ทั้งคู่คือด้านสำคัญของการงานแห่งชีวิต และบางคนอาจรู้สึกหมดสภาพเพราะงาน พวกเขาอาจทุ่มเทกับมันมากเสียจนไม่เหลือสภาพจะไปทำอย่างอื่น หรือถึงจุดที่รู้สึกว่า...ไม่เหลืออะไรจะให้ได้อีกแล้ว การหมดสภาพดังกล่าวนี้เกิดได้จากสารพัดเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการจดจ่อกับการงานแห่งชีวิตด้านเดียวมากเกินไป ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นเรื่องงานมากกว่าเรื่องสำคัญด้านอื่นของชีวิต “เช่นเดียวกับหางเลื่อมพรายหลายสีสัน งานหลายๆด้านก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณเช่นกัน พวกมันมีหลายด้าน ทว่ารวมกันเป็นหนึ่งตัวตน เป็นคนเดียวที่กำลังทำหลายสิ่ง ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกันและพึ่งพากัน” มีความเชื่อจากแก่นความคิดสำคัญบางประการที่กลายเป็นความเชื่อมั่นสำคัญต่อการพินิจพิเคราะห์สถานการณ์อันแม่นตรงในชีวิตที่”โธมัส มอรร์”ได้เน้นย้ำให้ผู้อ่านหนังสือของเขาเล่มนี้ได้ประจักษ์นั่นก็คือ กระบวนความคิดจากวิชาจิตวิเคราะห์ที่ระบุถึงว่า...วิชาดังกล่าวนี้สอนให้เราอ่านสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นปกติ โดยใช้จินตนาการและความละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก การกระทำหรือสิ่งที่ปกติธรรมดาที่สุด ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปและมีนัยสำคัญอย่างแท้จริงได้..ซึ่งก็เช่นเดียวกับ “เสียงเรียก”อันเป็นความรู้สึกที่ว่า...เราอยู่บนโลกนี้ด้วยเหตุผลบางอย่าง..มีสิ่งที่ถูกลิขิตมาให้เราแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่แค่ไหนก็ตาม พวกที่มองชีวิตด้วยเหตุผลมากกว่าอาจตั้งคำถามว่า...ทัศนคติแบบนี้มีเหตุผลแล้วหรือ มันอาจดูไร้เดียงสา แต่หากกลับเสียงเรียกนั้น ไม่จำเป็นต้องเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติและไม่ต้องไร้เดียงสาเลย...”เสียงเรียก”เป็นความรู้สึกหรือสัญชาตญาณที่บ่งชี้ว่า..ชีวิตต้องการบางสิ่งบางอย่างจากเรา มันสามารถให้ความหมายต่อการกระทำเพียงเล็กน้อย และช่วยให้เราสร้างอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่ง ถ้าเรามีเหตุผลในการดำรงชีวิต เราจะไม่รู้สึกว่าตนไร้เป้าหมาย เราจะรู้ว่าตนเป็นใครและทำอะไร...ในสังคมที่มีแต่ความกังวลว่าชีวิตจะไร้ความหมาย ไร้ค่า ไร้สาระ ...ประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตอันถือเป็นการตระหนักรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง... “ที่ทางของคุณบนโลกนี้”(Life at Work)..ถือเป็นหนังสือแห่งการเรียนรู้และรับรู้ถึงตำแหน่งแห่งการดำรงอยู่ของชีวิตบนโลกนี้ด้วยศาสตร์และศิลป์อันเจิดกระจ่างของชีวิต เป็นสัมผัสรู้ที่เกิดขึ้นจากข้อตระหนักรู้โลกภายในที่เปี่ยมเต็มไปด้วยมิติแห่งความเข้าใจผ่านการตีความที่แยบยลและสมบูรณ์...ในนามแห่งการเข้าถึงชีวิต...ที่มีรูปรอยที่เปี่ยมเต็มไปด้วยน้ำหนัก...”เราทุกคนเกิดมาในโลกนี้เพื่อทำสิ่งใด? และจะเข้าถึงชีวิตปัจจุบันของเราได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร?”...นั่นคือคำถามและคำตอบก็คือว่า...”หากเราจะเข้าถึงชีวิตปัจจุบันของเราได้อย่างเต็มที่ เราต้องเปิดรับอดีต และต้องยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของคุณอย่างเต็มตัว รู้สึกถึงมันอย่างเข้มข้น/แต่ถ้าหากคุณตีตัวออกห่างจากมันแม้เพียงนิดเดียว มันจะกลายเป็นอุปสรรค เพราะคุณไม่ยอมให้มันเป็นส่วนหนึ่งของคุณ...มันอาจจะเป็นไปได้ว่าคุณอาจอึดอัดกับที่ทางของคุณ ณ ขณะที่ต้องพิจารณามันอย่างใกล้ชิด...แต่ในที่สุดแล้วคุณจะได้รับความพอใจจากการซึมซับมัน เป็นความพอใจที่ได้ค้นพบตัวเอง และถ้าคุณไม่ทำให้มันเกิดเป็นส่วนหนึ่งของคุณ มันก็ยังอยู่ตรงนั้น ยังคงแอบมีอำนาจเหนือคุณ ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นเรื่องไม่ดีด้วย นั่นหมายถึงว่าคุณอาจยังทำตามรูปแบบเดิมๆ หรือต่อต้านเหตุการณ์ที่ทำร้ายคุณในอดีต” “พรรณี ชูจิรวงศ์ “แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาด้วยความเข้าใจถึงแก่นลึกแห่งเนื้อหาที่ก่อเกิดและมุ่งหวัง...ด้วยหลักคิดของชีวิตที่ว่า...ประสบการณ์จะเป็นสิ่งที่ค่อยๆบอกกับเราว่า...อะไรคือสิ่งที่เหมาะกับเรา อะไรที่เป็นงานแห่งชีวิตของเรา..และอะไรคือที่ทางของเราบนโลกนี้??? ความสมบูรณ์แห่งคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งกอปรขึ้นด้วย การมีท่าน”อาจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์”นักแปลผลงานทางด้านจิตวิญญาณอันเลื่องชื่อทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ..ซึ่งก็นับว่ามีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสือแห่งการเสาะแสวงหาการงานแห่งชีวิตที่ ไม่ใช่งานตามหน้าที่ แต่มันเป็นกิจกรรมที่ให้ความหมายและจุดมุ่งหมายแก่เราทุกๆคนอย่างถึงที่สุด.... “การงานคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตที่เราทุกคนต้องทำ...และแม้ว่างานนั้นจะถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่มันก็ไม่ใช่เป็นเพียงหนทางแห่งการเลี้ยงชีพ ...จริงๆแล้ว มันคือวิธีการที่ทำให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น...ต่างหาก!!!”