คนข้างวัด /อุทัย บุญเย็น เขียนคำว่าทิศไว้ในวงเล็บว่า “(ทิศ?)” เพราะเอะใจมานานแล้วว่า ภาคอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของไทย ตามแผนที่ประเทศไทย อยู่ที่ไหนกันแน่? ดูอย่างไร ภาคอีสานก็ไม่ใช่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” แน่ๆ โดยเฉพาะ ถ้าถือกรุงเทพฯ เป็นภาคกลาง แต่แผ่นดินภาคอีสาน (20 จังหวัด) ของไทย อยู่ทางทิศอาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ต่างหาก จังหวัดในภาคอีสานปัจจุบัน 20 จังหวัดคือ 1. เลย 2. หนองคาย 3. บึงกาฬ 4. นครพนม 5. มุกดาหาร 6. อุดรธานี 7. หนองบัวลำภู 8. สกลนคร 9. ขอนแก่น 10. มหาสารคาม 11. กาฬสินธุ์ 12. ร้อยเอ็ด 13. ยโสธร 14. อุบลราชธานี 15. อำนาจเจริญ (15 จังหวัดนี้ เรียกว่า “อีสานตอนบน”) 16. ชัยภูมิ 17. นครราชสีมา 18.บุรีรมย์ 19. สุรินทร์ 20. ศรีสะเกษ (5 จังหวัดนี้ เรียกว่า “อีสานตอนใต้” หรือ “อีสานใต้”) (โปรดสังเกตว่า จังหวัดในภาคอีสานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ จังหวัดที่อยู่ด้านบน จัดเป็นอีสานตอนบน ส่วน 5 จังหวัด (ชัยภูมิ,นครราชสีมา, บุรีรมย์,สุรินทร์,ศรีสะเกษ) อยู่ด้านล่างของภาคจึงเรียกว่า อีสานใต้) ไม่มีอีสานซ้าย-ขวา หรืออีสานตะวันตก-ตะวันออก) คำว่า “อีสาน” เป็นภาษาบาลี แปลว่า ตะวันออกเฉียงเหนือ (มีผู้เขียนเป็ฯ “อีสาน” บ้าง คงเพราะไม่ชอบคำว่า “อี”นั่นแหละ) สมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา คุณครูให้ท่องจำทิศทั้ง 8 คือ 1.อุดร (ทิศเหนือ) 2. อีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) 3.บูรพา (ทิศตะวันออก) 4. อาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) 5.ทักษิณ (ทิศใต้) 6.หรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) 7.ปัจจิม หรือปัจฉิม (ทิศตะวันตก) 8.พายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) สมัยนั้น ไม่เอะใจว่า อีสาน อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังมาดูแผนที่ประเทศไทย จึงเอะใจว่า ภาคอีสานของไทยมีใช่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ดูอย่างไรก็เป็นทิศอาคเนย์หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดในภาคเหนือ (9 จังหวัด) ต่างหาก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาทราบตอนหลังว่า การแบ่งภาคของประเทศ ไม่ใช่คำนึงเฉพาะ “ทิศ” เท่านั้นส่วนหนึ่งคำนึงด้านวัฒนธรรม (เช่น ภาษา) ด้วย ภาคอีสานของไทย อันที่จริงมีหลายภาษาและมีหลายชนเผ่าเท่าที่นึกได้ มี ลาว, เขมร, เญอ, ภูไท ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นลาวเฉพาะที่จังหวัดศรีสะเกษมี 4 จนเผ่า คือ ลาว,เขมา, ส่วย และเญอ (ในจังหวัดสุรินทร์ ก็คล้ายกับจังหวัดศรีสะเกษ) ชนเผ่าที่กำลังจะหายสูญไปจากภาคอีสาน คือ ส่วยและเญอ เมื่อสมัยเป็นเด็ก ผมเข้าใจว่า ภาษาลาวสำเนียงศรีสะเกษ (เช่น ไป (ไบ้), กิน (กิ้น) เป็นภาษาส่วย แต่ความจริงภาษาส่วยมีต่างหาก เช่นเดียวกับ ภาษาเขมร และภาษาเญอ “เญอ” เขียนด้วย ญ เพราะออกเสียงเป็น ย ขึ้นจมูกหรือนาสิก ย ที่ออกเสียงเป็น ญ มีมากในภาษาลาว เช่น ยัง (ออกเสียงเป็น ญัง) ใหญ่ (ภาษาไทยภาคกลาง ออกเสียงเป็น ย แต่ภาษาลาวออกเสียงเป็น ญ) ยาว (ในเพลง “ไงง่อง” ของ ตั๊กแตน ชลดา ออกเสียงเป็น ญ ) “ไงง่อง” แปลว่า ฝุ่นตลบ มีคนเขียนเป็น “ไหง่งอง” ผมมีความเห็นว่า ควรจะเขียนว่า “ไงง่อง” (คำเขียนจากภาษาหนึ่รงเป็นอีกภาษาหนึ่ง ควรจะหลีกเลี่ยงการแปลงเป็นคำที่มีความหมายในอีกภาษาหนึ่ง เช่น คำว่า “ถั่งเช่า” ควรจะเขียนเป็น “ถั่งเฉ้า” เพื่อเลี่ยงคำว่ “เช่า” ในภาษาไทย อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่กฎตายตัวนะครับ) ที่ยกเรื่อง “อีสาน” มาเขียนวันนี้ เพื่อตั้งข้อสังเกตว่า คำว่าอีสานใน “ภาคอีสาน” ไม่ใช่หมายถึง ทิศ เพราะในแผ่นที่ประเทศไทยภาคอีสานอยู่ทางทิศอาคเนย์ของประเทศมากกว่า ส่วนจังหวัดที่อยู่ทางภาคอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) คือจังหวัดในภาคเหนือ มีจังหวัดเชียงราย – เชียงใหม่ เป็นต้น อีกคำหนึ่ง คือ “ล้านนา” (เป็นคำเรียกจังหวัดในภาคเหนือ) มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ระยะหนึ่งว่า ควรจะเป็น “ล้านนา” หรือ “ลานนา” (ไม่มีไม้โทที่คำว่า ล้าน-) ในที่สุดก็ยุติเป็น “ล้านนา” เพราะเมืองหลวงพระบางของลาว เคยตั้งชื่อด้วยภาษาบาลีว่า “ศรีศต (หรือศัต) นาคนหุต” คำว่า ศรีศตนาคหุต ประกอบด้วย ศรี(สิริ) +ศต(ร้อย) + นาค (ช้าง) + นหุต (หมื่น) แปลว่ าช้าง 100 หมื่นเชือก(10หมื่น เป็น 1 แสน, 10 แสน เป็น 1 ล้าน) หมายความว่า เมืองหลวงพระบาง(หรือเมืองลาว) มีช้างมากถึงชล้านเชือก ชาวเหนือ(ในจังหวัดของภาคเหนือ) โดยเฉพาะทางฝั่งขวาของ จ.เชียงราย มาจากลาว แต่ขึ้นชื่อทางมีผืนนามาก (แทนที่จะเป็นช้าง) จึงเรียกว่า “ล้านนา” (คำว่า “ล้าน” มีความหมายว่า อุดมสมบูรณ์) ผมกำลังตามฟังเทศน์ของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญทางยูทูบ ก็เลยมาสนใจคำว่า อีสาน เพราะพระอาจารย์สมภพ เป็นคนจังหวัดสกลนคร (ภาคอีสาน) และมีเชื้อสายเป็นลาว (สปป.ลาว) กำลังทึ่งว่า ท่านจำกาพย์กลอนและคำผญาของลาวได้มากมาย เพลงะกล่อมลูกของชาวอีสาน ท่านก็จำได้ กำลังแปลกใจว่า ความจำของพระอาจารย์สมภพเกิดจากอะไร มีคนกล่าวว่า เป็น “อัจฉริย” เฉพาะตัว แต่มีตอนหนึ่งในคำเทศน์ของท่านที่ว่า จิตที่เป็นสมาธิหรือ “เข้าฌาน” จะจำอดีตได้ชัดเจนขึ้น อดีตที่ว่านี้คือ “บุพเพนิวาส” ที่เราคุ้นกับคำว่า “บุพเพสันนิวาส” นั่นแหละ บุพเพนิวาน คือ ที่อยู่หรือชาติ (ภาพ) เก่าก่อน พระพุทธเจ้าได้ “บุพเพนิวาสานุสสติญาณ” (ระลึกชาติได้) ในคือตรัสรู้ การระลึกชาติได้ เป็นความรู้ (ญาณ) อย่างหนึ่ง ที่เกิดจากฌานแต่พระพุทธเจ้ายังไม่ถือว่าเป็นการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งได้ “อาสวักขยญาน” (อ่านว่า “อาสะวัก ขะยะยาน” ) จึงทรงรู้ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระอาจารย์สมภพเป็นพระสายปฏิบัติ (ทางจิต) แต่มีความรู้ทางภาษา (เช่น ลาว ไทย อังกฤษ และบาลี) หลายภาษา น่าแปลกใจที่ท่านจำกาพย์กลอน คำผญา และโคลงกลอน (ของภาคกลาง) ได้มากมาย ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถ อ้างคำบาลีในพระไตรปิฎกได้อย่างคล่องแคล่ว ชนิดมหาเปรียญทั่วไปก็ทำไม่ได้ ผมจึงรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ไปเทศน์ที่สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 30 แห่ง) และที่ประเทศแคนาดา ที่วอชิงตัน มีฝรั่งคนหนึ่งใช้คำถามกับท่านว่า “พุทธศาสนาของท่าน สอนไม่ให้ตายได้หรือไม่?” พระอาจารย์สมภพตั้งคำถามใหม่ ให้ใช้คำว่า “พุทธศาสนา” เท่านั้น ไม่มีคำว่า “ของท่าน” (เพราะพุทธศาสนาของทุกคน) ท่านตอบฝรั่งคนนั้นว่า “พุทธศาสนาสอนไม่ให้มีการเกิด (ชาติ) เมื่อไม่มีการเกิด ก็ไม่ม่การแก่ (ชรา) และไม่มีการตาย (มรณะ)” สนใจการใช้คำ (ทางวิชาการ) บางคำของท่าน เมื่อเทศน์ถึงประวัติของบ้านเมือง พระอาจารย์สมภพใช้คำว่ “ประวัติกาล” แทนคำว่า “ประวัติศาสตร์” ฟังแล้วเข้าใจได้ว่า ความเป็นไปของบ้านเมืองหรือประเทศหนึ่งๆ นั้นเป็นช่วงกาลหรือเวลา หรือสมัยหนึ่งๆ นึกไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยที่บอก(ในวิชาประวัติศาสตร์) ว่า คนไทยอพยพมาจากแถบเทือกเขาอัลไต มีคนบอกว่า เทือกเขาอัลไต (ระหว่างจีนกับมองโกเลีย) เป็นน้ำแข็ง ไม่ใช่ที่อยู่ของคน พูดทำนองว่า อยากให้เปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเรื่องนี้ ผมเห็นว่า ความรู้ใดๆ ที่เคยให้เรียนก็คงไว้อย่างนั้นแหละถ้าจะมีความเห็นต่าง ก็ให้ใช้วิธีแสดงไว้ที่ “เชิงอรรถ” เถิด จะได้รู้ว่าสมัยหนึ่งเคยมีความรู้หรือความเชื่ออย่างนั้น ความรู้ในพระไตรปิฎกก็เช่นกัน มีคนบอกว่า มีการแต่งเติม และแก้ไขเรื่อยมา) แต่เมื่อได้ฟังเทศน์พระอาจารย์สมภพแล้ว มีหลายเรื่องชวนให้คิด โดยเฉพาะเรื่อง “สังสารวัฏฏ์” (ตายแล้วเกิดอีก) ผู้ได้ฌานจะเห็นได้ชัด แต่ก็อธิบายได้ยาก เพราะคนฟังกับคนเห็น อยู่คนละมิติ เหมือนคนตาบอดกับคนตาดี นั่นแหละ คนตาบอด แม้แต่ฝัน ก็ไม่เห็นอะไร! น่าคิดว่า แนวคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเน้นเรื่อง อนัตตา ชวนให้เข้าใจว่า ชีวิตนี้ตายแล้วก็จบ ไม่มีอะไร แต่แนวคำสอนของพระอาจารย์สมภพและหลวงพ่อหลวงปุ่ทางภาคอีสานกลับยืนยันว่ามีการตายแล้วเกิดอีก (ตามกรรม) อย่างยาวนาน