จังหวัดยโสธร มีคำขวัญประจำจังหวัด “เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ” แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 78 ตำบล 885 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 530,000 คน พื้นที่รวม 2,601,040 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 1,863,765 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา 1,467,340 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.72 ไร่ ของพื้นที่ทำการเกษตร พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ถั่วลิสง และแตงโม
ยโสธร เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มากกว่า 200 ปี ซึ่งข้าวอินทรีย์ เป็นสินค้าสำคัญ และเป็นที่รู้จักของตลาดทั่วไปและระหว่างประเทศ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดยโสธร ซึ่งมีฐานข้อมูลในปี 2558 พื้นที่การผลิตข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล จำนวน 37,111 ไร่ มีสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เดิมที่มีศักยภาพมีความเข้มแข็ง และม่งมั่นในการผลิตเกษตรอินทรีย์ การเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบสถาบันเกษตรกร โดยมีสถาบันเกษตรกรที่อยู่ในการดูแล แนะนำ ส่งเสริมของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรธรรมชาติอินทรีย์หนองยอ จำกัด สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เลิงนกทาและไทยเจริญ จำกัด สหกรณ์เกษตรอินทรีย์แทนรัก จำกัด กลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ ซึ่งมีสมาชิกที่ทำเกษตรอินทรีย์เป็นสมาชิกสังกัดสถาบันทั้ง 5 แห่ง รวมมากกว่า 600 ราย และมีพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ รวมพื้นที่มากกว่า 12,000 ไร่
ในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์รวมทั้งเป็นนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนดเอาเกษตรอินทรีย์เป็นเป้าหมายในการพัฒนาสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ทำบันทึกตกลงความร่วมมือกับจังหวัดยโสธร “โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร” ครอบคลุมทั้งพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ ให้เป็นจังหวัดต้นแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 60,000 ไร่ ภายในปี 2561 ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้อย่างยั่งยืน จังหวัดยโสธร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีเจตนารมณ์ร่วมกัน ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) วันที่ 29 มกราคม 2559 เพื่อขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 100,000 ไร่ ภายในปี 2561
นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสอง พ.ศ.2560-2564 ได้กำหนดแนวทางการการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบ จังหวัดยโสธรเป็นเมืองเกษตรกรอินทรีย์ โดยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตเดิม และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ โดยขยายผลจากกลุ่ม หรือเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในพื้นที่ ในปี 2561 จังหวัดยโสธร ได้ทำ MOU ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ร่วมกับ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร) โดยจังหวัดยโสธรมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ เป็น 250,000 ไร่ ภายในปี 2564
เกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการจัดการ การผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวม เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติช่วยลดต้นทุนการผลิต มีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภคและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศในชุมชน โดยหลีกเลียงและปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง การมีภูมิคุ้มกันภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งส่งผลให้ระบบเกษตรกรรมมีความเข้มแข็งและยั่งยืน ปัจจุบันจังหวัดยโสธรมีเกษตรกรนำพื้นที่เข้าร่วมเกษตรอินทรีย์ 292,355.13 ไร่ เกษตรกร 34,948 ราย โดยแยกมาตรฐานออกดังนี้
1.มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล เกษตรกร 4,197 ราย พื้นที่ 62,446 ไร่
2.มาตรฐาน Organic Thailand เกษตรกร 22,506 ราย พื้นที่ 180,642.88 ไร่
3.มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Organic Guarantee System (PGS) เกษตรกร 8,223 ราย พื้นที่ 49,205 ไร่
4.มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยโสธรขั้นพื้นฐาน Yasothon Basic Organic Standard (Yaso BOS) เกษตรกร 22 ราย พื้นที่ 61.25 ไร่
สุชาติ สีหามาตย์ ประชาสัมพันธ์สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร