คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” จากการเรียนในตำรา สู่การปฏิบัติ ทดลอง และใช้จริง และส่งต่อเกษตรกรตัวจริง ตอกย้ำความเป็นสถาบันที่คิดค้นงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ล่าสุดผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรอุตสาหกรรมการผลิต คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ และตู้อบแห้งมูลวัว ให้เกษตรกร ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผศ.ชัยรัตน์ หงษ์ทอง อาจารย์ประจำสาขาอุตสาหกรรมการผลิต คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และอาจารย์ที่ปรึกษาผลงานดังกล่าว เล่าว่า การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมทั้งสองชิ้น เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4หลักสูตรอุตสาหกรรมการผลิต เครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5แรงม้า ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ เป็นผลงานของ น.ส.วีรยา กันจันทึก นายเอกชัย ไกรแสงราธ และนายกรวิชญ์ สังข์ศิลป์ การสร้างเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์โดยใช้ก๊าซชีวภาพ เป็นการช่วยผ่อนแรงและลดระยะเวลาในการย่อยหญ้าเนเปียร์ให้เกษตรกร ส่วนตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว ผลงานของนายสหรัฐ เหมสุลักษณ์ นายมนูญ มงคล และนายสันติสุข สินมาก ตู้อบมูลวัวโดยใช้แก๊ส LPG ช่วยเกษตรกรลดเวลาในการอบแห้งมูลวัวในการทำปุ๋ย หลังจากนำไปใช้จริงเป็นที่เกษตรกรพอใจเป็นอย่างมาก ทางสาขาจึงได้มอบสิ่งประดิษฐ์ให้กับฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อนำไปใช้ต่อไป น.ส.วีรยา กันจันทึก ตัวแทนผู้ออกแบบและพัฒนา เล่าว่า เครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5แรงม้า โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ส่วนประกอบที่สำคัญคือ ต้นกำลัง ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด9แรงม้า ความเร็วรอบที่ใช้ 2,500 รอบต่อนาที   ที่ปลายเพลาติดตั้งมู่เล่ขนาด 3 นิ้ว เพื่อส่งถ่ายกำลังด้วยสายพานขนาดร่องเบอร์ A - 59 นิ้ว 2 เส้น ไปที่มู่เล่ขนาด 7.5 นิ้ว ซึ่งเป็นของชุดใบมีด ใบมีดทั้งหมด 6 ใบ ความเร็วรอบที่ใช้งาน1,000 รอบต่อนาที ชุดป้อนต้นหญ้าเนเปียร์มีตัวป้อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60มม. มี 8 ร่อง ยาว 295 มม. จำนวน 2 ตัวขบกันเพื่อป้อนหญ้าเนเปียร์เข้าสู่ใบมีดและโครงของเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ มีขนาด 580 x 480 x 640 มม. โดยเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ใช้ก๊าซชีวภาพสามารถใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันเบนซินได้ จากการทดสอบเครื่องย่อยหญ้าโดยใช้ก๊าซชีวภาพสามารถรับปริมาณหญ้าเนเปียร์ได้ครั้งละ 3 กิโลกรัม โดยทดสอบ 3 ชุด การทดสอบ 1 ชุด จะย่อยหญ้า 5 ครั้ง (ครั้งละ 3 กิโลกรัม) ผลการทดสอบได้เวลาเฉลี่ย 44.81 วินาที ต่อการย่อยหญ้าเนเปียร์ 15 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน คือ 0.11บาท โดยเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ใช้ก๊าซชีวภาพจะเหมาะสมกับเกษตรกรที่มีบ่อก๊าซชีวภาพ เป็นการประหยัดเชื้อเพลิงและลดต้นทุนได้มากขึ้น ขณะที่ตัวแทนศึกษาตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว นายสหรัฐ เหมสุลักษณ์ เล่าว่า ได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ออกแบบและพัฒนาตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้แก๊ส LPG ขนาดความกว้าง  80 เซนติเมตร ยาว 83 เซนติเมตร และความสูง 150 เซนติเมตร ด้านบนของตู้อบมีชุดระบายความร้อนโดยใช้มอเตอร์ Mitsubishi ขนาด ¼ HP เป็นต้นกำลังขับใบพัดขนาด ø 20เซนติเมตร และความเร็วลม 14 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนด้านล่างเป็นแหล่งความร้อนจากหัวเตาแก๊สยี่ห้อ KB 8 ขั้นตอนการทดลองตู้อบแห้งมูลวัว จะใส่มูลวัวเต็มถาดแต่ละถาดสามารถใส่ได้ 3 กิโลกรัมต่อถาด โดยวางเรียงทั้งหมด 6 ชั้น รวมน้ำหนักมูลวัวทั้งหมด 18 กิโลกรัม ทดลองทั้งหมดที่ 3อุณหภูมิ คือ 130, 140 และ 150 องศาเซลเซียส การทดสอบการอบจะทำทั้งหมด 5 ครั้ง ใช้เวลาอบมูลวัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง ทุก ๆ 30 นาที สลับถาด ซึ่งมีหลักการสลับถาดดังนี้ คือ นำถาดที่ 1 ออก และนำถาดที่เหลือเลื่อนขึ้นไปด้านบนแล้วนำถาดที่ 1 เอากลับมาใส่ไว้แทนถาดที่ 6 หลังจากการอบน้ำหนักของมูลวัวทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.88 กิโลกรัม ค่าใช้จ่ายในการอบเฉลี่ยต่อครั้งการทดลองคือ 7.82 บาท ผลการทดสอบการหาประสิทธิภาพของตู้อบแห้งมูลวัวพบว่า อุณหภูมิที่ 140 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มอบเครื่องย่อยหญ้าเนเปียร์ ขนาดเครื่องยนต์ 9.5 แรงม้าโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ และตู้อบแห้งมูลวัวโดยใช้ก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว ให้นายบุญเลิศ  ชัยมัง ตัวแทนรับมอบ ณ ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว