สร้างบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์โลก จนเป็นที่ฮือฮากันไปทั้งพิภพ สำหรับ การพบปะกันอย่างที่แทบจะไม่มีใครคาดหมายกันมาก่อน ระหว่าง “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา” กับ “ประธานคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ” ณ บริเวณ “เขตปลอดทหาร” หรือ “ดีเอ็มแซด” หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งพรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีผู้นำของเกาหลีใต้ คือ “ประธานาธิบดีมูน แจ-อิน” เข้าร่วมฉากอันสำคัญในครั้งนี้ด้วย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ พร้อมด้วยประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้ และประธานคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ พบปะกันที่เขตปลอดทหาร หมู่บานปันมุนจอม พรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ ทั้งนี้ การพบปะ หรือที่หลายคนเรียกว่า “ประชุมสุดยอด” หรือ “ซัมมิต” กันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับประธานคิม จอง-อึน ข้างต้น ก็ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว หลังจากสองครั้งก่อน ผู้นำทั้งสองได้พบปะกันที่ “สิงคโปร์” และ “กรุงฮานอย” เมืองหลวงของ “เวียดนาม” ตามลำดับ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และเมื่อต้นปีที่เพิ่งผ่านพ้นมา วาระที่หารือกันหลักๆ ก็คือ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมข้อแลกเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ อย่าง การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ต่อเกาหลีเหนือ เป็นอาทิ โดยมีรายงานการประชุมสุดยอด หรือซัมมิต ครั้งที่ 2 ซึ่งมีขึ้น ณ กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม เมื่อช่วงต้นปีนี้นั้น ต้องบอกว่า ล้มคว่ำคะมำหงายอย่างไม่เป็นท่า เพราะไม่คืบหน้าใดๆ ซึ่งต่างฝ่าย ต่างออกจากห้องประชุมด้วยความหัวเสีย ส่วนการพบปะกันครั้งที่ 3 ซึ่งไม่ได้คาดหมายกันมาก่อนนั้น เป็นเวลานานเกือบ 1 ชั่วโมงนั้น ได้รับการเปิดเผยจากทั้งทางฟากสหรัฐฯ และฝั่งเกาหลีใต้ ที่ผู้นำไปเข้าร่วมพบปะกันดังกล่าวว่า “จะฟื้นการเจรจาเรื่องการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ” ขึ้นมาอีกคำรบ หลังจากสะดุดไปเมื่อครั้งซัมมิตรอบ 2 ที่กรุงฮานอย ประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้ พบปะกับประธานคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ในการเปิดเผยของประธานาธิบดีทรัมป์เอง ได้กล่าวว่า ทั้งตนและและประธานคิม ได้ตกลงกันที่จะตั้งทีมเจรจาขึ้นมาหารือ ซึ่งจะเริ่มเห็นกันในราว 2 – 3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้ระบุถึงตัวบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าคณะตัวแทนการเจรจาของทางฟากฝั่งสหรัฐฯ ด้วยว่า คือ “นายสตีเฟน อี. บีกัน” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในเกาหลีเหนือ” ขณะที่ ทางฝ่ายเกาหลีเหนือ ปรากฏว่า ทางรัฐบาลเปียงยาง จะส่ง “นายรี ย็อง-โฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” เป็นผู้นำคณะทีมเจรจา ทั้งนี้ ในการเจรจาที่จะมีขึ้น ก็คลอดกำหนดการออกมาเสร็จสรรพ โดยจะใช้ “การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก” หรือ “เออาร์เอฟ” ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ในฐานะชาติ “ประธานอาเซียนแบบหมุนเวียน” ในช่วงเดือนหน้านี้ ที่คณะตัวแทนระดับสูงของทั้งสองฝ่าย คือ สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ เป็นเวทีของการหารือกัน โดยอาจจะพ่วงเกาหลีใต้ เข้าร่วมโต๊ะเจรจาด้วย การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งจะมีขึ้นที่ประเทศไทย จะเป็นเวทีการหารือของคณะตัวแทนเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนื ก็ต้องถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทยเราด้วยเหมือนกัน ที่จะได้มีส่วนร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ในอันที่จะจุดประกายความฝัน หรือนำพาความหวังของสันติภาพให้บังเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี ในฐานะเวทีหารือเบื้องต้น ก่อนกรุยทางที่จะนำไปสู่การเจรจาระดับรัฐมนตรี และผู้นำ หรือประชุมสุดยอด ซัมมิต กันต่อไป กล่าวถึงประชาชนชาวเกาหลีใต้ ประเทศคู่ปรปักษ์ร่วมสายเลือดเกาหลี คิดเห็นอย่างไรต่อฉากภาพของประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานคิม ที่ปรากฏโฉม ณ หมู่บ้านปันมุนจอม เมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยมีรายงานจาก “เรียลเมเตอร์” และ “โอห์มายนิวส์” สองสำนักสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ ในเกาหลีใต้ ระบุว่า ร้อยละ 63 ของชาวโสมขาว คิดเห็นเป็น “บวก” คือ เห็นดี เห็นชอบ ด้วย ที่ผู้นำทั้งสอง แถมด้วยประธานาธิบดีของพวกเขา หารือร่วมกันที่หมู่บ้านหยุดยิงพักรบดังกล่าว ส่วนผู้ที่เห็นต่าง คือ คิดเป็นลบต่อกรณีข้างต้น มีจำนวนเพียงกว่าร้อยละ 29 เท่านั้น มีเพียงร้อยละ 8 กว่าๆ ที่ปฏิเสธที่จะตอบความเห็น หรือกล่าวแต่เพียงว่า ขอหรอดูสถานการณ์ก่อน ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างชาวเกาหลีใต้ ที่ตอบแบบสอบถาม ยังระบุว่า เชื่อมั่นในรัฐบาลของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ว่า จะประสบความสำเร็จพอสมควรในการนำพาสันติภาพให้บังเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหวังของชาวโสมขาว ในอันที่จะได้เห็นความสงบสุขบนคาบสมุทรที่พวกเขาอาศัยอยู่ โดยผู้ที่เชื่อมั่นข้างต้น มีจำนวนถึงร้อยละ 95 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทะยานพุ่งสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ได้ตัวเลขเพียงกว่าร้อยละ 50 เท่านั้น หรือจะเรียกว่าเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง สู่การเชื่อมั่นเกือบเต็มร้อย ในความหวังสันติภาพจะบังเกิด หลังเผชิญหน้ากันในฐานะชาติคู่ “สงครามเกาหลี” ที่มีมาอย่างยาวนานร่วม 7 ทศวรรษ ท่ามกลางความเชื่อมั่นกันด้วยว่า สันติภาพเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยเบื้องต้นขอลุล่วงในการจบศึก สงบสงครามดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อน “สงครามเกาหลี” เมื่อเกือบ 7 ทศวรรษที่ผ่านมา