หอการค้าไทยเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.62 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน ประชาชนกังวลการเมืองและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เผยบาทอาจแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์หลังการเมืองนิ่ง-นักลงทุนคลายกังวล ส่งผลมีเงินทุนไหลเข้า แนะลดดอกเบี้ยลง .25% นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.62 ลดลงมาจากระดับ 77.7 มาอยู่ที่ 76.4 เป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับการเมืองในอนาคต ดังนั้น การเมืองจึงเป็นปัจจัยที่คนกังวลมากพอสมควร เห็นได้ชัดจากดัชนีความเชื่อมั่นทางการเมืองต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนพ.ค.57 ซึ่งเป็นช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ อีกทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดทรงตัวระดับต่ำ ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ “แม้ปัจจุบันเราอาจจะได้เห็นความชัดเจนของหน้าตา ครม.แล้ว แต่ความรู้สึกถึงการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลยังอยู่ในมุมมองของประชาชน ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตหดหายไป คนไม่มั่นใจว่าปัจจัยโลกที่ไม่ชัด และรัฐบาลจะสามารถเยียวยาหรือทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นได้จริงหรือไม่” สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 63.4 จาก 64.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 72.2 จาก 73.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 93.5 จาก 95.0 ปัจจัยลบที่สำคัญเพิ่มเติมได้แก่ ปัญหาสงครามการค้าโลก,คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP)ปี 62 เหลือ 3.3% และปรับลดส่งออกเหลือโต 0%,การส่งออกในเดือนพ.ค.หดตัวที่ -5.79%,ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว และราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยบวกได้แก่ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 1.75%,ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง “เศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสขยายตัวร้อยละ 3.5 หากหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วมีการอัดฉีดเม็ดเงินนับแสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้เงินสะพัดเร็ว เพราะผู้มีรายได้น้อยมักใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว อีกทั้งรัฐบาลใหม่ก็ต้องอัดฉีดการท่องเที่ยว หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 20,000 ล้านบาท” นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ประชาชนมีความกังวลนอกเหนือไปจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่นิ่งแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่า ซึ่งมีผลต่อการส่งออก การท่องเที่ยวในประเทศ และราคาสินค้าเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงทั้งในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวจากที่เงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง โดยตั้งแต่ต้นปี 62 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 6% แต่หากเทียบกับ ม.ค.60 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 14% ขณะที่ไม่มีค่าเงินประเทศที่เป็นคู่แข่งแข็งค่าเท่าบาทของไทย ทั้งเงินหยวนจีน เงินด่องเวียดนาม และเงินรูเปียะห์อินโดนีเซีย ที่ต่างอ่อนค่าลง ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากค่าเงิน สำหรับเงินบาทยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าไปมากกว่าปัจจุบัน โดยมีโอกาสจะแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนิ่ง มีความชัดเจนของหน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สามารถบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ คสช.หมดอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ จากเดิมที่นักลงทุนอาจมีความไม่มั่นใจในประเด็นของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคลายความกังวลในจุดนี้ลงไปได้ และเริ่มมีความมั่นใจที่จะนำเงินมาลงทุนในโครงการต่างๆในประเทศ “การลงทุนในประเทศที่เคยติดเงื่อนไขว่าต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เงื่อนไขนี้จะคลายหมด 100% เราคาดว่าเงินทุนที่จะไหลเข้ามาภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้ เงินทุนจะไหลเข้าในตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ได้ง่าย บาทจึงมีโอกาสจะแข็งค่ากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์” ทั้งนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองว่ารัฐบาลควรใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนนโยบายทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาจจะลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 แล้วประเมินสถานการณ์ก่อน และมองว่าในช่วงครึ่งแรกปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะยังไม่ปรับประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยรอดูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนและยังคงมองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวร้อยละ 3.5 การส่งออกมีโอกาสขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 1