สดร.เผยเป็นครั้งที่สมบูรณ์สุด ได้เห็นหลากหลายปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกัน สร้างความประทับใจให้ชาวชิลีและคนย่านนี้ที่ไม่ได้เห็นปรากฏการณ์นี้กันได้ง่ายๆ สำหรับไทยปลายปีนี้รอชมได้เพียงแค่บางส่วนไม่เต็มดวง 26 ธ.ค.นี้ ต้องรอไปถึง 51 ปีถึงได้ชมแบบเต็มๆ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นำทีมเดินทางศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สาธารณรัฐชิลี เมื่อวันอังคารที่ 2 ก.ค.62 ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐชิลี ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณลานอเนกประสงค์ของเมืองวิกุนญา อยู่ห่างจากจุดกึ่งกลางของแนวคราสเต็มดวงประมาณ 25 กิโลเมตร นำกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์สังเกตการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชนิดต่าง ๆ รวมถึงอากาศยานไร้คนขับ มาใช้บันทึกบรรยากาศมุมสูง ทำให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้อีกด้วย ท่ามกลางชาวชิลี นักท่องเที่ยว นักดาราศาสตร์ทั่วโลกมาเฝ้าชมปรากฏการณ์นี้นับหมื่นคน ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ฟ้าใส ไร้เมฆ สามารถชมปรากฏการณ์ได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ อาทิ ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ชั้นโคโรนา ปรากฏการณ์แสงโลก และเปลวสุริยะ นอกจากนี้ ในช่วงก่อนและหลังสุริยุปราคาเต็มดวง ยังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ข้างเคียงได้ชัดเจน อาทิ ปรากฏการณ์เงาเสี้ยว ปรากฏการณ์แถบเงา ขณะเงามืดของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิด ท้องฟ้ามืดจนสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ ดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวฤกษ์หลายดวงสว่างอยู่กลางท้องฟ้าเป็นเวลานานกว่า 2 นาที ผู้ที่มาเฝ้าชมต่างประทับใจในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญครั้งนี้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค.63 คราสเต็มดวงพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก สาธารณรัฐชีลี และประเทศอาร์เจนตินา สำหรับไทย จะเกิด “สุริยุปราคาบางส่วน” ในช่วงปลายปีนี้ ตรงกับวันที่ 26 ธ.ค.62 เป็น ”ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน” สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.18 - 13.57 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อ.เบตง จ.ยะลา ประมาณร้อยละ 81 ส่วน “สุริยุปราคาเต็มดวง” จะเกิดขึ้นในอีก 51 ปีข้าง ตรงกับวันที่ 11 เม.ย. 2613