สรรหามาเล่า: นิทานผีกรุงเทพฯ"แม่นาคพระโขนง"สุดฮิต ในสมัยที่ยังไม่มีสื่อโซเชียลชุกชุมอย่างทุกวันนี้ ความสนุกสนานประการหนึ่งของเด็กๆ และการได้ผ่อนคลายความตึงเครียดจาการทำงานของชาวบ้านก็คือการได้นั่งฟังนิทาน สิ่งที่ได้จากนิทานไม่ใช่แค่เพียงได้รับความเพลิดเพลินเบิกบานใจตามที่หลายๆ คนเข้าใจ เพราะนิทานหลายๆ เรื่องมีเนื้อหาเป็นคติเตือนใจ ช่วยอบรมบ่มนิสัย ช่วยให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมและปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตลอดจนเสริมศรัทธาในศาสนา รวมถึงเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย เฉพาะคำว่า “นิทาน” หมายถึง เรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมามาช้านานหลายชั่วอายุคน โดยที่ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นคนเล่าเป็นคนแรก เป็นที่น่าสังเกตว่านิทานในแต่ละท้องถิ่นมักจะมีเนื้อเรื่องส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน เพราะเมื่อนิทานตกไปอยู่ในท้องถิ่นใดก็มักมีการปรับเนื้อเรื่องให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของถิ่นนั้น ทำให้มีส่วนที่เป็นรายละเอียดแตกต่างไปตามสภาพแวดล้อม และอิทธิพลของวัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่นที่เล่านิทานนั้น จึงทำให้เกิด “นิทานพื้นบ้าน” ขึ้น เนื้อเรื่องของนิทานพื้นบ้านโดยทั่วๆ อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัย ความรัก ความโกรธ เกลียด ริษยา อาฆาต ตลกขบขัน หรือแม้แต่เรื่องแปลกประหลาดผิดปกติธรรมดา ดังนั้นตัวละครในนิทานจึงมีลักษณะต่างๆ กัน คือเป็นได้ทั้งคน ยักษ์ ครุฑ นาค เจ้าหญิง เจ้าชาย อมนุษย์ แม่มด เทวดา นางฟ้า แต่ให้มีความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมต่างๆ เหมือนคนทั่วไป หรืออาจจะเหมือนที่เราอยากจะเป็น แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตอีกเช่นกันว่า แต่ละจังหวัดมักจะมีนิทานพื้นบ้านที่เป็นการผจญภัย ความรัก ความโกรธ เกลียด ริษยา อาฆาต ตลกขบขันเป็นจำนวนมาก ในขณะที่นิทานพื้นบ้านของกรุงเทพฯ กลับหานิทานลักษณะดังกล่าวน้อยเหลือเกิน เพราะนิทานในกรุงเทพฯ ที่หลงเหลือเล่าขานมาถึงทุกวันนี้มักจะเป็นนิทานอธิบายสาเหตุ แม้นิทานอธิบายสาเหตุของไทยมีเล่ากันในทุกถิ่น ส่วนมากเป็นนิทานขนาดสั้น เพื่ออธิบายที่มาของสิ่งต่างๆ เช่น ที่มาของรูปลักษณะของคน สัตว์ หรือไม่ก็เล่าถึงสาเหตุที่คน สัตว์ และพืชมีรูปร่างลักษณะ สีสัน หรือชื่อเรียกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ตลอดจนสาเหตุที่สัตว์บางชนิดเป็นศัตรูกัน แต่นิทานกรุงเทพฯ กลับเป็นการอธิบายชื่อบ้านนามเมืองหรือสถานที่เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นเรื่องผิดปกติประเภทผีอยู่ไม่กี่เรื่อง แต่กลับเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “แม่นาคพระโขนง” นิทานเรื่องนี้ กล่าวถึงครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง สามีชื่อมาก ภรรยาชื่อ นาค ทั้งสอง ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างปกติสุข จนนางนาคภรรยาตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ทิดมากสามีถูกทางราชการเกณฑ์ไปเป็นทหาร ทิดมากจึงต้องทิ้งนางนาคภรรยาซึ่งท้องแก่ไว้เพียงลำพัง ด้วยความล้าสมัยทางการแพทย์ เมื่อถึงเวลาคลอด หมอตำแยที่ทำคลอดไม่สามารถที่จะช่วยชีวิตนางนาคและลูกไว้ได้ ทำให้นางต้องตายทั้งกรม ประกอบกับความบังเอิญของชาวบ้านที่ช่วยกันนำร่างของนางไปฝังไว้ท่ามกลางต้นตะเคียนคู่ จึงทำให้วิญญาณของนางนาคมีฤทธิ์เดชมากไปอีก ถึงเวลาทิดมากปลดประจำการกลับมา วิญญาณของนางนาคซึ่งยังคงรักและห่วงใยสามีอยู่ ก็แปลงร่างเป็นคนเหมือนเดิม คอยต้อนรับและใช้ชีวิตตามปกติเช่นที่เคยเป็นมา ชาวบ้านพยายามที่จะเล่าความจริงให้ทิดมากฟัง แต่ทิดมากก็ไม่ยอมเชื่อ จนวันหนึ่งขณะที่แม่นาคกำลังตำน้ำพริกอยู่ เผอิญทำไม้ตีพริกหล่นใต้ถุนไป จึงเอื้อมมือยาวลอดใต้ถุนลงไปเก็บ ทิดมากซึ่งกำลังผ่าฟืนอยู่ เหลือบมาเห็นเข้าจึงได้เชื่อว่าภรรยาตนนั้นเป็นผีจริงๆ ในที่สุดชาวบ้านได้นิมนต์พระธุดงค์รูปหนึ่งให้ท่านช่วยปราบวิญญาณของแม่นาคที่ กำลังเป็นที่หวาดผวากันอยู่ ซึ่งท่านก็ได้ทำพิธีและสามารถเรียกวิญญาณของแม่นาคลงหม้อดินได้แล้วนำไปทิ้ง ลงในแม่น้ำ เรื่องราวต่างๆ จึงได้สงบลง และกลายเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญถึงอยู่จนปัจจุบันนี้ คัดจาก “นิทานกรุงเทพฯ” คอลัมน์ “รฦก” วัฒนรักษ์ 2561, ภาพอินเตอร์เนต