สมราคากับเสียงสรรเสริญเยินยอให้เป็น “อภิมหาโครงการแห่งศตวรรษนี้” อย่างยากที่จะหาโครงการอื่นๆ มาเทียบเทียมกันโดยแท้ สำหรับ “การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI : Belt and Road Initiative)” หรือที่หลายคนรู้จัก และเรียกกันติดปากในนาม “วัน เบลท์ วัน โรด (OBOR : One Belt One Road)” อันเป็น “อภิมหาโครงการ” หรือ เมกะโปรเจ็กต์ (Mega Project)” ของรัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ หรือแดนมังกร นั่นเอง ชื่ออภิมหาโปรเจ็กต์เป็นทางการตามนามภาษาไทย ก็คือ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Silk Road) ” ซึ่งทางการจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคปัจจุบัน ได้นำเอาชื่อ “เส้นทางสายไหม (Silk Road)” อันเป็นเส้นทางสัญจรคมนาคมแต่ครั้งโบราณ ที่เชื่อมโยงกันระหว่าง “โลกตะวันออก” กับ “โลกตะวันตก” กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางความหวังว่า เส้นทางสัญจรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การค้า แต่ครั้งโบราณนั้น จะกลับมาเปรี้ยงปร้าง หรือถ้าว่ากันตามภาษาสมัยใหม่ว่า “ปัง” เฉกเช่นแต่ครั้งเก่าก่อน “ขั้วโลกเหนือ”พื้นที่ “เส้นทางสายไหมน้ำแข็ง (Ice Silk Road)” ใช่แต่เท่านั้น นอกจาก “วัน เบลท์ วัน โรด” เส้นทางสายไหมที่เป็น “ทางบก” แล้ว พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้วางอภิมหาโปรเจ็กต์ ครอบคลุม “ทางน้ำ” ด้วย เมื่อได้ปล่อยแผน “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road)” ขึ้นมาอีกเมกะโปรเจ็กต์หนึ่ง คู่ขนาน เคียงคู่ กับ “สายไหมเส้นทางบก” ข้างต้น นอกจากนี้ ทางการปักกิ่ง ก็ยังได้มีแผนขยายรุกคืบ ไปในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวยะเยือก อย่าง “ขั้วโลกเหนือ” โดยมีชื่อว่า “เส้นทางสายไหมน้ำแข็ง (Ice Silk Road)” อีกด้วย ก็ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมเศรษฐกิจ การค้า ที่ว่า ครอบคลุมไปแถบจะทั่วโลกอย่างเสร็จสรรพ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าชาติในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา รวมทั้งอเมริกาใต้ หรือละตินอเมริกา การประชุมเพื่อสถาปนาสำนักงานความร่วมมือสารสนเทศด้านเศรษฐกิจหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือบีอาร์อีไอพี ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน และก็เป็นเหตุให้นานาประเทศต่างๆ หลายสิบประเทศ มีความประสงค์ ปรารถนาที่จะเข้าร่วมวงไพบูลย์ในอภิมหาโปรเจ็กต์ของพญามังกรจีน อย่างชนิดมิอาจให้พลาดได้ ด้วยประการทั้งปวง ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า อภิมหาโครงการแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ข้างต้น พลันที่ “เปิดตัว” ออกมา ก็สร้างอาการขวัญผวาให้แก่เหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตก ที่นำโดยพญาอินทรีสหรัฐอเมริกาหาน้อยไม่ เพราะผลกระทบนั้นจะส่งให้ “พญามังกร” ได้สยายปีกกรงเล็บ คือ อิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ ทวีผงาดขึ้นมาแทนที่พญาอินทรีสหรัฐฯ ที่นับวัน บารมีจะลดน้อยถอยอิทธิพลลงไปอย่างน่าใจหาย ตัวแทนของหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ประชุมหารือเรื่องการจัดตั้งสำนักงานบีอาร์อีไอพี ล่าสุด พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้ “เล่นใหญ่” ผ่านช่องทาง “วัน เบลท์ วัน โรด” กันอีกคำรบ และถือเป็นการย่างก้าวไปอีกขั้น แถมยังเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญอีกต่างหาก ด้วยการสถาปนา “สำนักงาน” หรือ “หน่วยงาน” ที่ว่าด้วย “ความร่วมไม้ร่วมมือทางข่าวสารด้านเศรษฐกิจขึ้น มีชื่อว่า “ความร่วมมือสารหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือเรียกย่อๆ ว่า “บีอาร์อีไอพี (BREIP : The Belt and Road Economic Information Partnership)” ขึ้น โดยสำนักงาน หรือหน่วยงานที่จะสถาปนาขึ้นมานั้น ก็มีนิวาสถาน ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งผู้ริเริ่มหน่วยงานนี้ ก็มิใช่ใครอื่น แต่เป็น “ซินหัว” สำนักข่าวอันเป็นกระบอกเสียงสำคัญของทางการจีนแผ่นดินใหญ่ นั่นเอง ที่เป็น “หัวหอก” ดำเนินการสถาปนาขึ้น ส่วนสำนักงาน สำนักข่าว หรือสถาบันต่างๆ ที่มาร่วมไม้ ร่วมมือ ก็ปรากฏว่า มีมากถึง 30 แห่ง ใน 26 ประเทศทั่วโลกด้วยกัน ที่มาร่วมวงไพบูลย์เป็น “บีอาร์อีไอพี” หน่วยงานนี้ด้วย ครอบคลุมทั้งสำนักงานผู้ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร สถาบันวิจัย สภาหอการค้า และสมาคมชั้นนำต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป แอฟริกา รวมไปถึงละตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ นายอัลเฟรด ชิปเค ผู้แทนอาวุโสของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ขณะอภิปรายเรื่องการสถาปนาสำนักงานบีอาร์อีไอพี ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนแผ่นดินใหญ่ สาระสำคัญในการทำงานของ “บีอาร์อีไอพี” ดังกล่าวนั้น ก็คือ เพื่อยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันของเหล่าชาติที่มาร่วมเป็นหนึ่งเดียวของ “วัน เบลท์ วัน โรด” รวมทั้งเป็นความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนกับบรรดาสถาบันต่างๆ ในอันที่จะแบ่งปัน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือสารสนเทศด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในจีนเอง หรือนานาประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดการบูรณาการ การเชื่อมโยง การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ในทางเศรษฐกิจ การค้า แบบไร้การกีดกัน โดยครอบคุลมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า การบริการ ตลอดจนภาคการเงิน และภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย นอกจากนี้ ก็ยังจะมีการสร้าง “แพลตฟอร์ม” ต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ตลอดจนสร้างแรงผลักดันให้เกิดการกระตุ้นในอันที่จะพัฒนาร่วมกันในมวลหมู่สมาชิก “วัน เบลท์ วัน โรด” พลันที่ พญามังกรจีน โดยสำนักงานซินหัว สถาปนา “สำนักงานความร่วมมือสารสนเทศด้านเศรษฐกิจหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ขึ้น ทางตัวแทนขององค์การระหว่างประเทศ อย่าง “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ก็ยังเห็นพ้องด้วยความต้องตา โดนใจ ก็หน่วยงานที่อาจเรียกได้ว่า “เส้นทางสายไหมข่าวสาร” ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นี้อย่างยกนิ้วให้