ที่ศูนย์การเรียนรู้ KC Farm ตำบลทุ่งปี้ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้ บมจ. ซันสวีท ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ภาคมหาวิทยาลัย และภาคการเกษตร ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็น ศูนย์เรียนรู้การทำ Smart Farming ตลอดจน Business Model ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำการเกษตรของข้าวโพดหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใน“งานนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร บริษัท ซันสวีท จำกัด( มหาชน) ครั้งที่ 4” ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ KC Farm ตำบลทุ่งปี้ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Smart Farming ของบริษัท มีการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคมหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ร่วมกันพัฒนาเซนเซอร์ (Sensor) วัดความชื้นในดิน และระบบ IoT Remote Monitoring ปล่อยน้ำเข้าแปลงแบบอัตโนมัติ ร่วมกับภาคเอกชน อย่างบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในการนำระบบ Remote Monitoring สถานีตรวจวัดอากาศจากต่างประเทศ ที่สามารถวัดอุณหภูมิ ความเร็วลม และตรวจจับแมลง มาทดลองใช้ เพื่อเก็บข้อมูลทำ Big Data สำหรับการคาดการณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ร่วมกับ บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด ในการนำโดรนเข้ามาสำรวจสภาพพื้นที่ ผ่านภาพถ่ายความละเอียดสูง เพื่อนำมาวิเคราะห์สุขภาพพืช ตลอดจนมีความร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหาของการปลูกพืช เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ
ดร.องอาจ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในภาคเหนือตอนบน เกษตรกรเริ่มรู้จัก Smart Farming มากขึ้น เพราะได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการที่ทางบริษัทได้จัดบุคลากรลงพื้นที่ไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ รวมถึงเข้าไปช่วยแก้ปัญหาด้านผลผลิตให้กับเกษตรกรโดยตรง และได้นำเทคโนโลยีไปให้เกษตรกรได้ใช้จริง อาทิโดรนพ่นยา เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่แพร่หลายมากนัก ทั้ง ๆ ที่การทำสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้ตรงตามความต้องการของโรงงาน แต่การใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยควบคุมคุณภาพผลผลิตนั้น เกษตรกรยังมีข้อจำกัดด้านกำลังในการลงทุนซื้อเทคโนโลยี และความรู้ในการใช้เทคโนโลยี จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตร เช่น เรื่องการจัดการน้ำ หรือระบบการขนส่ง ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนสร้างแพลทฟอร์มทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรสามารถจับต้องได้ด้วย
ไฮไลท์ที่สำคัญของงานอีกหนึ่งอย่าง คือ พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่าง บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพสูง ภายใต้แบรนด์ตราศรแดง และบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ในการนำนวัตกรรมระดับสากลของรถเกี่ยวข้าวโพดสู่เกษตรกรไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตค่อนข้างสูง การนำรถเกี่ยวข้าวโพดมาใช้จึงเป็นส่วนช่วยในการ พัฒนาการใช้เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการเก็บเกี่ยว อีกทั้งยังร่วมผนึกกำลังในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว และพืชผักอื่น ๆ สำหรับตลาดแปรรูปพร้อมรับประทาน Ready To Eat เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรให้สูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของทั้งสองฝ่าย และเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านการเกษตรต่อไป


