สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวล่าสุดของนาซาว่า “#นาซาเตรียมส่งเฮลิคอปเตอร์ลงสำรวจดวงจันทร์ไททัน วันที่ 27 มิถุนายน 2019 องค์การอวกาศนาซ่า (NASA) ได้อนุมัติโครงการดรากอนฟาย (Dragonfly) ส่งหุ่นยนต์โดรนพลังนิวเคลียร์ไปสำรวจดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ไททัน (Titan) เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของระบบสุริยะรองจากแกนิมีด (Ganymede) ซึ่งเป็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี และมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเสียอีก ไททันเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศอยู่อย่างหนาแน่น ชั้นบรรยากาศของไททันประกอบด้วย ไนโตรเจนเป็นส่วนมาก เช่นเดียวกับโลกของเรา และเต็มไปด้วยสารประกอบอินทรีย์ทั้งในชั้นบรรยากาศและบนพื้นผิว แต่ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่าโลกของเราเป็นอย่างมาก ทำให้บนพื้นผิวของไททันก๊าซมีเทนมีสถานะเป็นของเหลวได้ บนไททันจึงมีมีเทนทำหน้าที่ประดุจดั่งน้ำบนโลกของเรา: มีเทนในชั้นบรรยากาศควบแน่นเป็นเมฆหมอกปกคลุมไปทั้วดวงจันทร์ ฝนมีเทนตกลงบนพื้นผิว ก่อนที่จะไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำ ลำธาร จนกลายเป็นมหาสมุทรมีเทนปกคลุมไปบนพื้นผิวของไททัน ด้วยหมอกหนาของมีเทนที่ปกคลุมไปทั่วชั้นบรรยากาศ ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นพื้นผิวของไททันได้โดยตรง ก่อนหน้านี้ การสังเกตพื้นผิวของมีเทนทำได้โดยใช้คลื่นสัญญาณวิทยุเท่านั้น เปิดเผยให้เห็นถึงพื้นผิวที่เรียบคล้ายของเหลวที่รวมกันเป็นมหาสมุทร นับเป็นพื้นที่แห่งเดียวในระบบสุริยะนอกจากโลกที่มีมหาสมุทรเป็นของเหลวอยู่บนพื้นผิว จนกระทั่งต่อมาในวันที่ 14 มกราคม 2005 ยานสำรวจฮอยเกนส์ (Huygens) จึงได้ลงจอดและบันทึกภาพพื้นผิวของไททันเป็นครั้งแรก โครงการดรากอนฟายจะส่งยานสำรวจขนาดสามเมตรที่ใช้ใบพัดแปดใบ ลักษณะเดียวกับโดรนในปัจจุบัน ที่ได้รับพลังงานผ่านพลังงานนิวเคลียร์ในลักษณะของเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี (Radioisotope Thermoelectric Generator: RTG) และปล่อยออกจากพื้นโลกในปี 2026 ไปถึงดาวเสาร์ในปี 2034 และจะสำรวจพื้นผิวของไททันเป็นระยะทางกว่า 175 กม. ตลอดภารกิจกว่า 2.7 ปี โครงการนี้จะลงจอดในพื้นที่แชงกรี-ลา ดูน (Shangri-La dune fields) บริเวณเดียวกับที่ยานสำรวจฮอยเกนส์ลงจอด เป็นเวลาห่างกันเกือบหนึ่งปีของดาวเสาร์พอดี ทำให้สามารถใช้ข้อมูลจากฮอยเกนส์ เพื่อนำร่อง และนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลใหม่ที่ได้จากดรากอนฟายได้ โดยดรากอนฟายจะเริ่มบินระยะสั้นๆ และค่อยๆ เพิ่มระยะทางจนถึงระยะไกลที่สุดประมาณ 8 กม. ต่อการบินหนึ่งครั้ง หาองค์ประกอบทางเคมีของพื้นผิวและชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจตอบคำถามถึงความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตบนไททันและภาพที่ได้จากการสำรวจอาจนำไปสู่การค้นพบทางธรณีวิทยาอื่นๆ ที่เรายังไม่เคยพบบนโลกอีกด้วย ด้วยแหล่งพลังงานของดรากอนฟาย ที่มาจากพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้อายุการใช้งานของยานสำรวจนี้ถูกจำกัดด้วยการสลายตัวของธาตุพลูโตเนี่ยม ซึ่งอาจมีพลังงานเพียงพอไปอีกอย่างน้อย 8 ปี..."